การบริหารจัดการคุณภาพอากาศ   

 

 

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม  / คู่ค้า / ชุมชน / พนักงาน

 

การบริหารจัดการคุณภาพอากาศเป็นประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญ เนื่องจากมลสารทางอากาศก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพอากาศที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวันของพนักงาน คนในชุมชน และจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ แม้ว่าในหลายประเทศได้มีการยกระดับของกฎหมายและมาตรการให้มีความเข้มข้น แต่ต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อการบริหารจัดการคุณภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพแบบองค์รวม

 

บริษัทจึงให้ความสำคัญและควบคุมคุณภาพอากาศในทุกกระบวนการดำเนินงานให้ได้มาตรฐานและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนและสังคม

 

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

 

ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการคุณภาพอากาศ จากกระบวนการผลิตที่อาจก่อให้เกิดมลสารทางอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานและชุมชนโดยรอบ บริษัทจึงได้จัดทำกลยุทธ์ แผนบริหารจัดการควบคุมคุณภาพอากาศ  และแนวทางพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพอากาศทั้งภายในและบริเวณโดยรอบโรงงาน ตลอดทั้งมีการตรวจวัดติดตามคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพอากาศเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ดูแลป้องกันมลสารทางอากาศผ่านการจัดการคุณภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

1. โครงการการประเมินผลกระทบด้านมลภาวะทางด้านอากาศด้วยการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ AERMOD ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 

 

บริษัท พาเนล พลัส จำกัด ในกลุ่มมิตรผลได้นำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ AERMOD ประเมินการแพร่กระจายมลสารทางอากาศ โดยใช้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา และผลตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ระบายออกจากปล่องมาวิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ จึงเกิดการพัฒนาลงทุนระบบบำบัดอากาศแบบ Wet Electrostatic Precipitator (WESP) ที่บริษัท พาเนล พลัส จำกัด จ.สงขลา สามารถดึงฝุ่นกลับเข้าสู่ระบบ ลดผลกระทบทางตรงได้ และยังส่งผลทางอ้อมโดยการได้วัตถุดิบกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกทางหนึ่ง 

 

นอกจากนี้บริษัทยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้บริหารและพนักงานทุกระดับที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การสร้างความตระหนัก ปัจจัยการแพร่กระจายมลพิษ และการควบคุมมลพิษ โดยนำข้อมูลจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ AERMOD มาเป็นส่วนหนึ่งในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report; EIA Report) จนนำมาสู่การวิเคราะห์และกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันมลพิษทั้งในและนอกเหนือที่ EIA กำหนด โดยมีการติดตามการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวภายในกลุ่มมิตรผล 

 

 

2. การป้องกันมลสารทางอากาศ 

 

กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินงาน เพื่อป้องกันมลสารทางอากาศ โดยแบ่งการป้องกันออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การป้องกันมลสารทางอากาศที่แหล่งกำเนิด การป้องกันมลสารทางอากาศที่ทางผ่าน การป้องกันมลสารทางอากาศที่ชุมชน 

 

การป้องกันมลสารทางอากาศที่แหล่งกำเนิด 

 

  • ควบคุมระบบการเผาไหม้ของ Boiler โดยมีการควบคุมการใช้เชื้อเพลิง และปัจจัยการเผาไหม้ของหม้อไอน้ำให้เหมาะสม ช่วยลดปริมาณ NOx, SOx ,CO, TSP และช่วยให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ 
  • ติดตั้งระบบควบคุมฝุ่นด้วยหยดน้ำ (Wet Scrubber) ที่มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมฝุ่นได้ร้อยละ 80 และทยอยนำระบบควบคุมฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator) ที่ทันสมัยซึ่งสามารถควบคุมฝุ่นได้ถึงร้อยละ 99 เพื่อดักจับฝุ่นจากการเผาไหม้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล 
  • ควบคุมฝุ่นจากกระบวนการผลิตวัสดุทดแทนไม้ โดยติดตั้งระบบบำบัดอากาศด้วยระบบมัลติไซโคน (Multicyclone) ประสิทธิภาพควบคุมฝุ่นร้อยละ 80 และติดตั้งสเปรย์ละอองน้ำเพิ่มเติมที่ปลายปล่องระบายของระบบบำบัดอากาศ
  • มีระบบดูดและรวบรวมฝุ่นจากกระบวนผลิตวัสดุทดแทนไม้ภายในอาคารผลิต และมีรถดูดฝุ่นวิ่งรอบบริเวณลานกองไม้ปีก เพื่อนำกลับไปเป็นเชื้อเพลิงของเตาเผาไหม้สำหรับการให้พลังงานของกระบวนการผลิต
  • ตรวจวัดคุณภาพปล่องระบายอากาศ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 
  • ตรวจวัดค่าความทึบแสงเขม่าควันที่ระบายออกจากปล่องด้วยแผนภูมิเขม่าควันของริงเกิลมานน์ (RINGELMANN SMOKE CHART) อย่างต่อเนื่อง 
  • การ monitor เพื่อควบคุมประสิทธิภาพการเผาไหม้อย่างใกล้ชิด 
  • การคลุมกองและการจัดการกองจัดเก็บเชื้อเพลิง เช่น ชานอ้อย 

 

 

การป้องกันมลสารทางอากาศที่ทางผ่าน 

 

ควบคุมฝุ่นจากสายพานลำเลียงวัตถุดิบชานอ้อยเข้าโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล โดยการตรวจสอบจุดรั่วของฝุ่นในสายพานอย่างสม่ำเสมอ ทำการติดตั้งที่ครอบสะพานลำเลียงชานอ้อย และทำการเคลื่อนย้ายชานอ้อยโดยสายพานลำเลียงแบบเคลื่อนที่ (Mobile Belt) ซึ่งภายในสายพานลำเลียงยังมีอุปกรณ์เกลี่ยชานอ้อยให้อยู่บนสายพาน, สเปรย์น้ำและอุปกรณ์ป้องกันการฟุ้งกระจายของชานอ้อยซึ่งปรับระดับความสูงได้ 

 

  • การปลูกต้นสนเพื่อเป็นแนวป้องกันฝุ่นจากกองชานอ้อยและติดตั้งแนวกำแพงตาข่ายสูงรอบกองชานอ้อย 
  • ติดตั้ง Wind Break เพื่อเปลี่ยนทิศทางลมที่กองชานอ้อย 
  • สเปรย์น้ำโดยใช้เครื่องพ่นหมอกน้ำ และ Big Gun พ่นน้ำ ในตำแหน่งหัวสะพานและตาข่ายกันฝุ่น 
  • ติดตั้งท่อโปรยชานอ้อย เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของชานอ้อย
  • ติดตั้ง Wind Sock เพื่อเฝ้าระวังทิศทางลมที่กองชานอ้อยและใบอ้อย 
  • ทำความสะอาดฝุ่นละอองสะสมตามหลังคา อาคาร ระบบลำเลียงเชื้อเพลิงต่างๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นที่มีโอกาสฟุ้งกระจายออกสู่ภายนอกอย่างสม่ำเสมอ 
  • ติดตั้งแนวตาข่ายในจุดที่เป็นช่องลมหรือทางผ่าน ในชั้นนอกกองชานอ้อยและใบอ้อย 
  • ช่วงฤดูหีบอ้อย ได้เพิ่มเติมรถน้ำบริการพรมถนนทั้งในโรงงานและในชุมชนรอบโรงงาน เพื่อลดผลกระทบฝุ่นละอองจากการสัญจร 
  • มาตรการป้องกันฝุ่นลานกองไม้ปีกวัถุดิบของการผลิตวัสดุทดแทนไม้ได้แก่ แนวตาข่าย สเปรย์รอบกอง แนวกำแพงดิน และแนวต้นไม้ 

 

 

การป้องกันมลสารทางอากาศที่ชุมชน 

 

  • ทำการตรวจวัดคุณภาพในบรรยากาศรอบโรงงาน ตามมาตรการ EIA เช่น ฝุ่นละออง ขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ฝุ่นขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา (TSP) 
  • สำรวจผลกระทบฝุ่นละอองในชุมชน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และดำเนินการการแก้ไขป้องกัน 
  • ติดตั้งชุดอุปกรณ์ตรวจสอบ monitor คือชุดผ้าขาว ผ้าดำ ในโรงงานและชุมชน เพื่อประเมินปริมาณฝุ่นนำมาประกอบการวิเคราะห์ข้อมูล 

 

 

 
 

การควบคุมฝุ่นจากบริเวณจัดเก็บชานอ้อย เช่น

การคลุมกองชานอ้อย การสเปรย์น้ำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของชานอ้อย และแนวตาข่ายและกำแพงต้นไม้รอบกองชานอ้อย