บรรจุภัณฑ์

 

 

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น / คู่ค้า / ลูกค้าและผู้บริโภค / ภาครัฐและภาคประชาสังคม / ชุมชน

 

บรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งช่วยปกป้องผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และเป็นสิ่งที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะสามารถส่งต่อถึงมือผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย บรรจุภัณฑ์ยังช่วยบ่งบอกถึงรายละเอียดข้อมูลโภชนาการและแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อผลิตภัณฑ์ถูกบริโภคแล้ว สิ่งที่เหลือไว้คือบรรจุภัณฑ์ที่กลายเป็นขยะซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความกังวล หากไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดีอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์อีกด้วย

 

ในปี 2564 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎหมายที่สำคัญครั้งใหญ่ในการอนุญาตให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลสามารถนำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียต่อทั้งผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ ในการพัฒนาและนำบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลมาใช้ในการบรรจุสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงเป็นโอกาสในการเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ภาครัฐ หน่วยงานราชการท้องถิ่น ผู้รับกำจัดทั้งเอกชนและท้องถิ่น ก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมสาธารณูปโภคสำหรับเก็บขน คัดแยก ใช้ซ้ำ รวมถึงการรีไซเคิล เพื่อให้สามารถตอบสนองแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมกันได้

 

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

 

กลุ่มมิตรผลมีแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) และเพิ่มการใช้บรรจุภัณฑ์แบบที่ใช้ซ้ำได้ (Reusable Packaging) ให้มากขึ้น ส่งเสริมการใช้วัสดุย่อยสลายได้ และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ (Compostable and Recyclable Packaging) รวมถึงส่งเสริมการนำวัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลมาใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ (Recycled Packaging) ที่ไม่สัมผัสอาหารโดยตรง เพื่อลดการใช้วัสดุใหม่

     

นอกจากนี้เรายังมีการกำหนดเป้าหมายในการขยายการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2568 บรรจุภัณฑ์น้ำตาลทั้งหมด (100%) จะต้องถูกออกแบบให้สามารถนำมาใช้ซ้ำ นำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรามีความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “นโยบายด้านบรรจุภัณฑ์” 

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

1. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติก และใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

 

กลุ่มมิตรผลมีแนวทางในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด (Monolayer) และใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ (Compostable Packaging) ซึ่งผลิตมาจากกระดาษเคลือบด้วยพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ซึ่งกระดาษที่ใช้ทำจากเยื่อไม้ที่มาจากแหล่งที่ปลูกทดแทน โดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งสองประเภทนี้คิดเป็น 95% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด  

 

สำหรับบรรจุภัณฑ์กระดาษ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ผลิตจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล และบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล โดยมีการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นนอก ในปี 2565 มีการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ผลิตจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล และได้การรับรองตามมาตรฐานสากล คิดเป็น 94% ของบรรจุภัณฑ์กระดาษทั้งหมด  

 

             
                            บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด (Monolayer) ซึ่งสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้  

 

            

บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้   

 

 

2. การลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก

 

บริษัทได้จัดส่งน้ำเชื่อมจำนวน 210,000 ตัน และจัดส่งน้ำตาลทรายจำนวน 47,000 ตัน ให้กับลูกค้าโดยแทงค์คาร์ ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้ถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับน้ำเชื่อมจำนวน 200 ล้านถุง และถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับน้ำตาลทรายจำนวน 47 ล้านถุง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำถุงพลาสติกไปฝังกลบ 322 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีการนำภาชนะบรรจุกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งสามารถลดการใช้พลาสติก 3,000 ตัน/ปี 

 

   
 
 

 

 

3. ลดความหนาของวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ลง

  • ลดการใช้ความหนาในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ทำให้ลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดลงถึงประมาณ 10 ตันต่อ/ปี

 

  • ลดน้ำหนักกระดาษในการผลิตกล่องลูกฟูก ทำให้ปริมาณกระดาษที่ใช้ทำกล่องกระดาษลูกฟูกลดปริมาณลง ประมาณ 70 ตัน/ปี

                                      

 

4. ร่วมมือกับภาครัฐในการวิจัยบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้

 

 

กลุ่มมิตรผลได้ทำการวิจัยร่วมกับหน่วยงานสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ซึ่งผลิตมาจากกระดาษเคลือบพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ซึ่งผลิตจากอ้อยเป็นส่วนประกอบ และมีการนำไปให้ผู้บริโภคทดลองใช้ เพื่อสนับสนุนการใช้วัสดุย่อยสลายได้