ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ภาครัฐและภาคประชาสังคม / คู่ค้า / พนักงาน / ชุมชน

 

พื้นดิน (Earth’s Land) และมหาสมุทร เป็นแหล่งสะสมคาร์บอนทางธรรมชาติ (Natural Carbon Sinks) ที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก การอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติ และมหาสมุทร นอกจากช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพแล้วยังรักษาแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกทางธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

สาเหตุสำคัญของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดจากการใช้ที่ดินของมนุษย์ เพื่อผลิตอาหาร เมื่อพื้นดินถูกเปลี่ยนแปลงเป็นการใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม ส่งผลให้ชนิดพันธุ์ของพืชและสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวสูญหายไปเนื่องจากสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และอาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะส่งผลต่อเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางทะเล บนบก และน้ำจืด ทำให้เกิดการสูญเสียสายพันธุ์ท้องถิ่น การระบาดของโรค หรือการเกิดเชื้อโรคเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดการตายของพืชและสัตว์จำนวนมาก และคาดว่าเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งแรก

 

กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญในการดําเนินธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งพนักงาน ภาครัฐ ประชาสังคม และชุมชน ในการดูแลและจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต

 

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

 

การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของทุกพื้นที่ปฎิบัติงาน และตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยระบุประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นหนึ่งของกรอบการดำเนินงาน เรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินงานได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอยู่ภายใต้นโยบายความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับการดำเนินด้านสิ่งแวดล้อมระบุให้มีการพิจารณาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงาน และจัดทำมาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ดังแสดงไว้ในคำแสดงเจตจำนงด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของบริษัท โดยการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีภาพได้เป็นไปตามหลักการบรรเทาผลกระทบตามลำดับขั้น (Mitigation Hierarchy Principle) ซึ่งประกอบด้วยการป้องกัน หลีกเลี่ยง บรรเทา ฟื้นฟู และชดเชยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อความหลากหลายทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่คุณค่า

 

 

คลิกเพื่อดูคำแสดงเจตจำนงด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ

 

คลิกเพื่อดูนโยบายความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

 

คลิกเพื่อดูกรอบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล

 

 

สำหรับคู่ค้าทางตรงและอ้อมจะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้ามิตรผล ซึ่งมีความสอดคล้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเขตอนุรักษ์และความหลากหลายชีวภาพเช่นกัน     

 

เป้าหมายในการดำเนินงาน

 

    1. ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss: NNL) ภายใต้ขอบเขตที่บริษัท

        ดำเนินการได้ ภายในปี 2573

    2. รักษาพื้นที่สีเขียวภายในโรงงานไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ของพื้นที่โรงงาน

    3. เพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ อย่างน้อย 4 ล้านต้น ภายในปี 2575 ในพื้นที่บริษัท พื้นที่ชาวไร่ พื้นที่ป่าสงวน

        และป่าชุมชน 

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

การจัดประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

 

บริษัทมีการประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และแนวทางการจัดการด้านความหลากหลายชีวภาพดังนี้

 

1. ประเมินความใกล้เคียงของพื้นที่ตั้งโรงงาน

             

ประเมินความใกล้เคียงของพื้นที่ตั้งโรงงานกับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญตามการกำหนดในประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศผ่านการใช้เครื่องมือของหน่วยงานต่างๆ เช่น แผนที่ป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้ แผนที่ Thailand Biodiversity Network เป็นต้น รวมทั้งใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายทางอากาศจากอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนในการประเมินความใกล้เคียงของไร่บริษัท และไร่ของเกษตรกรกับพื้นที่ป่า

 

 

2. ตรวจติดตามความหลากหลายทางชีวภาพตามมาตรการ

 

มีการตรวจติดตามความหลากหลายทางชีวภาพตามมาตรการที่กำหนดในโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดส่งรายงานให้กับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้การดำเนินโครงการสอดคล้องกับมาตรการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535

        

ซึ่งจากการประเมินความใกล้เคียงของพื้นที่ตั้งโรงงานกับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของบริษัททั้งหมด 53 พื้นที่ตั้งโรงงาน (12,135.4 เฮกตาร์) ซึ่งคิดเป็นการประเมิน 100% มีผลการประเมินดังนี้  

 

 

อย่างไรก็ตาม เราได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานของทุกพื้นที่ตั้งของบริษัทโดยได้มีการติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยในปี 2565 เราดำเนินการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพไปแล้วร้อยละ 85 และจะไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss: NNL) ภายใต้ขอบเขตที่บริษัทดำเนินการได้ ภายในปี 2573 อีกทั้งยังจัดให้มีกิจกรรมปลูกต้นไม้เป็นประจำทุกปี เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพให้กับพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังนำมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400:2017 มาใช้ในการบริหารจัดการคู่ค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีการนำมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลเพื่อความยั่งยืนบองซูโคร (Bonsucro) มาใช้บริหารเกษตรกร จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงคู่ค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินงานและสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของกลุ่มมิตรผล

 

คลิกเพื่อดูการประเมินความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

การจัดกิจกรรมด้านความหลากหลายทางชีวภาพ  

 

1. โครงการปลูกป่า

 

โครงการปลูกป่ากลุ่มมิตรผล เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนเป้าหมายการก้าวสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2573 และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มมิตรผล

 

โครงการปลูกป่ากลุ่มมิตรผล มีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้จำนวน 4 ล้านต้น ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2565 - พ.ศ.2575) โดยแบ่งสัดส่วนเป็นการปลูกป่าร่วมกับหน่วยงานภายนอกองค์กร 85% และปลูกป่าในพื้นที่ของกลุ่มมิตรผล เกษตรกร และชุมชน 15% ภายใต้งบประมาณดำเนินโครงการทั้งหมด 100 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรและชุมชนจากระบบการจัดเก็บคาร์บอนเครดิตในป่าไม้

 

ผลการดำเนินงานโครงการปลูกป่า กลุ่มมิตรผล ประจำปี 2565

  • จำนวนต้นไม้                  324,285 ต้น
  • จำนวนพื้นที่                   1,209 ไร่
  • จำนวนเกษตรกร              2,034 ราย
  • งบประมาณดำเนินงาน      7,021,530 บาท

 

โครงการปลูกป่ากลุ่มมิตรผลจะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกระยะยาวต่อผู้คน ธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ  รวมถึงการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวที่จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และสามารถต่อยอดไปสู่การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตเพื่อเข้าสู่ระบบการเก็บและซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างทัศนคติที่ดี มีแรงจูงใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการมีส่วนร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

บริษัทยังมุ่งมั่นในการดําเนินธุรกิจโดยปราศจากผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้สุทธิ โดยจะดําเนินการฟื้นฟูหรือปลูกป่าไม้เพื่อชดเชยการสูญเสียป่าไม้จากการดําเนินการในปัจจุบันหรือการดําเนินธุรกิจในอนาคต กลุ่มมิตรผลได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของป่าไม้และเขตอนุรักษ์ของประเทศไทยและองค์กรระหว่างประเทศ และติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างสม่ำเสมอ โดยในปี 2565 การจัดหาวัตถุดิบหลักของกลุ่มมิตรผล มาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งเรายังได้มีการตั้งเป้าหมายการจัดซื้อวัตถุดิบอ้อยสดเป็น 100% ภายในปี 2567 

 

 

2. โครงการสำรวจเพื่อติดตามความหลากหลายทางชีวภาพตาม EIA

 

จากการประเมินความใกล้เคียงของพื้นที่ตั้งโรงงานกับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของบริษัท พบว่ามี จำนวน 3 พื้นที่ ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญตามที่กำหนดในประเทศไทย บริษัทจึงได้ดำเนินมาตรการติดตามและตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

 

ตัวอย่างมาตรการติดตามและตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

 

 

2.1 โรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง ได้ดำเนินโครงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่โครงการและรอบโครงการในรัศมี 5 กิโลเมตร ตั้งแต่ปี 2555 – ปี 2565 ซึ่งมีการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ เช่น ความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ ความหนาแน่นของต้นไม้ และสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่าในด้านความหลากหลายชนิดพันธุ์ ระดับความชุกชุม และสถานภาพของสัตว์ป่าในแต่ละชนิด นอกจากนั้นแล้วยังทำการสำรวจสถานภาพสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครอง และสถานภาพการอนุรักษ์ตามเกณฑ์พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และเกณฑ์องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union of Conservation of Nature – IUCN) เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ดังนี้

 

คลิกเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในปี 2556-2565

 

 

นอกจากนี้ทางโรงงานมีการจัดทำแผนกิจกรรมสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ ในระยะยาวทั้งภายใน และภายนอกองค์กร 5 ปี ดังนี้  

 

 

 

2.2 โรงไฟฟ้าชีวมวล มิตรผล ไบโอ เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) ได้ดำเนินโครงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่โครงการของบริษัทตั้งแต่ปี 2564 – ปี 2565 โดยได้ทำการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ เช่น ความหลากหลายของชนิดพรรณไม้ ความหนาแน่นของต้นไม้ และสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่าในด้านความหลากหลายชนิด ระดับความชุกชุม และสถานภาพของสัตว์ป่าในแต่ละชนิด นอกจากนั้นแล้วยังทำการสำรวจสถานภาพสัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครอง และสถานภาพการอนุรักษ์ตามเกณฑ์พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และเกณฑ์องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union of Conservation of Nature – IUCN) เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาและเทียบกับผลสำรวจรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ปี 2560 สามารถสรุปได้ดังนี้

 

 

 

   

             กิจกรรมการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ บริษัท มิตรผล ไบโอ เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด

 

   

3. โครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพร่วมกับคู่ค้า

 

บริษัท พาเนลพลัส จำกัด  บริษัทในกลุ่มมิตรผล ได้เห็นความสำคัญของการรับรองการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนตามข้อกำหนดของ FSC  ซึ่งเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบริษัท จึงได้ในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชน อ.นาทวี และ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา  รวมถึงแปลงสวนยางพาราสมาชิก FSC ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเข้าร่วมเป็นพื้นที่อนุรักษ์ของโครงการฯ 3 พื้นที่ ได้แก่ ป่าชุมชนบ้านทุ่งหัวเมือง ป่าชุมชนบ้านต้นไทร และป่าชุมชนบ้านช่องเขา คิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 2,393 ไร่ ด้วยความร่วมมือของโครงการฯและชุมชนได้เข้าไปช่วยดูแลและรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับแผนการดำเนินโครงติดตามกิจกรรม ป่าชุมชนและแปลงสวนยางพาราสมาชิก FSC กำหนดให้มีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชุมชนทุกๆ 5 ปี และทุกๆ 3 ปี สำหรับแปลงสวนยางพาราสมาชิก FSC โดยมีผลการสำรวจความหลากหลาย และกิจกรรมการอนุรักษ์ดังนี้

 

 

3.1 พื้นที่ป่าชุมชนทุ่งหัวเมือง ตำบลท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา พื้นที่อนุรักษ์ 1,065 ไร่ 

 

บริเวณป่าชุมชนทุ่งหัวเมือง ตำบลท่าประดู่ อาเภอนาทวี จังหวัดสงขลา มีลักษณะเป็นสันทรายชายฝั่งโบราณ และมีการดูแลโดยชุมชน ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ พื้นที่ป่าปลูก พื้นที่สังคมพืชชุ่มน้ำ และพื้นที่สังคมพืชย่อยอื่นๆพื้นที่ป่าชุมชนทุ่งหัวเมืองแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ เป็น 4 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ประกอบด้วยป่าชุ่มน้ำ ป่าสน และสังคมพืชอื่นๆ, พื้นที่ป่าปลูก โดยพืชที่ปลูกต้นยางนาเป็นส่วนใหญ่, บ่อน้ำ และพื้นที่อนุญาตให้ชุมชนเข้ามาทำการเกษตร

 

โดยในปี 2565 พื้นที่ดังกล่าวได้มีการสำรวจความหลากลายทางชีวภาพของพรรณไม้ และสัตว์ โดยนักวิชาการกรมป่าไม้

 

ลงนามบันทึกข้อตกลง (ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559)

สำรวจพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ในป่าชุมชนทุ่งหัวเมือง

 

 ประชุมและทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน

  

แผนงานในการดำเนินโครงการมีดังนี้

 

  • อบรมให้ความรู้การอนุรักษ์กับชุมชน
  • ปกปัก และอนุรักษ์พันธุกรรมสัตว์ และพืชที่มีอยู่ดั้งเดิม และหายาก ได้แก่ การลาดตระเวนพื้นที่ การศึกษาแนวทางกำจัดพืชรุกราน การจัดทำป้ายป่าชุมชน และป้ายข้อปฏิบัติ และดำเนินการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและสัตว์
  • สร้างแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ เช่น จัดทำป้ายชื่อต้นไม้
  • พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
  • เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชน ได้แก่ การอบรมเรื่องการจัดการป่าชุมชน จัดทำป้ายปฏิบัติในการเก็บหาของป่า เป็นต้น

 

 

3.2 พื้นที่ป่าชุมชนป่าชุมชนบ้านต้นไทร ตำบลท่าปลักหนู อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา พื้นที่อนุรักษ์ 1,033 ไร่  

 

ป่าชุมชนบ้านต้นไทรมีพื้นที่ประมาณ 1,033 ไร่ พื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาชื่อว่าเขาควนเขาวัง ยอดเขาสูงประมาณ 150 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งต้นน้ำของคลองปลักเปรี๊ย ดินจะมีลักษณะเป็นดินร่วน ดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย ส่วนลักษณะหินเป็นพวกหินปูน และหินแกรนิตเป็นส่วนใหญ่ สภาพป่าไม้ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่รอบๆป่า เป็นสวนยางพารา

   

                        สำรวจและติดตามความหลากหลายของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านต้นไทร

 

                                 สำรวจลาดตระเวนพื้นที่ป่าชุมชนบ้านต้นไทร เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกตัดต้นไม้

 

แผนงานในการดำเนินโครงการมีดังนี้

 

  • ร่วมกันจัดการป่าไม้ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ ควบคุม ดูแล รักษา หรือบำรุงป่า พัฒนาสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ภายใต้หลักการความยั่งยืน ได้แก่ การจัดทำป้าย และป้ายข้อปฏิบัติป่าชุมชน สำรวจพันธุ์พืชและสัตว์ และลาดตระเวน
  • การพัฒนาป่าไม้และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดการป่าชุมชน และจัดทำเส้นทางป่าชุมชนและจุดชมวิว
  • เพื่อบริหารจัดการป่าอันเป็นประโยชน์ต่อการรับผลผลิตมาลดรายจ่าย

 

 

3.3 ป่าชุมชนบ้านช่องเขา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา พื้นที่อนุรักษ์ 398.96 ไร่

 

ป่าชุมชนบ้านช่องเขามีลักษณะเป็นเขาหินปูน สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะค้างคาวสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ป่าชุมชนบ้านช่องเขา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าควนทับช้าง มีลักษณะเป็นเขาหินปูน ทอดตัวใปในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นเขาหินปูน ชั้นหินปูนเกิดการกัดกร่อน เนื่องจากแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในเนื้อหิน เมื่อน้ำฝนตกลงมา จึงทำให้ป่าชุมชนบ้านช่องเขามีถ้ำขนาดเล็กเกิดขึ้น

 

การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชุมชนบ้านช่องเขาชาวบ้านมีการเก็บหาของป่า เช่น น้ำผึ้งป่า หน่อไม้ เก็บเห็ดเป็นต้น และพื้นที่ป่าชุมชนบ้านช่องเขาเป็นพื้นที่ที่มีถ้ำและมีค้างคาวอาศัยอยู่ จึงทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากมูลค้างคาวได้อีกด้วย

  

                                                        การสำรวจรอบป่าชุมชนบ้านช่องเขา

 

แผนงานในการดำเนินโครงการมีดังนี้

 

  • ร่วมกันจัดการป่าไม้ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ ควบคุม ดูแล รักษา หรือบำรุงป่า พัฒนาสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ภายใต้หลักการความยั่งยืน ได้แก่ การจัดทำป้าย และป้ายข้อปฏิบัติป่าชุมชน สำรวจพันธุ์พืชและสัตว์ ลาดตระเวน รวมถึงอบรมจัดการป่าชุมชน
  • การพัฒนาป่าไม้และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์
  • เพื่อบริหารจัดการป่าอันเป็นประโยชน์ต่อการรับผลผลิตมาลดรายจ่าย เช่น การจัดการป่าชุมชน การใช้ประโยชน์ และการจัดการมูลค้างคาว

 

 

การประยุกต์ใช้หลักการบรรเทาผลกระทบตามลำดับขั้น (Mitigation Hierarchy Principle)

 

  • หลีกเลี่ยง (Avoid) - บริษัทฯ ออกแบบ และบริหารการจัดการพื้นที่ปฏิบัติการ/โรงงาน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้มีกระบวนการดำเนินอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงบริษัทฯ มีนโยบายความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ที่ระบุถึงการกำกับ และควบคุมการดำเนินธุรกิจ  เพื่อคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ 

 

  • ลดผลกระทบ (Reduce Impacts on Nature) - บริษัทฯ สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ด้วยการหมุนเวียน สร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วยการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน

 

  • ฟื้นฟู (Restore) - บริษัทฯ ดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการปลูกป่าที่มีความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายหน่วยงานทั้งในพื้นที่ปฎิบัติงาน และมีโครงการใหญ่ใน จ.สุพรรณบุรี และ จ.ขอนแก่น โดยตั้งเป้าหมายในการปลูกป่าและฟื้นฟู 4 ล้านต้น ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2565-พ.ศ.2575) นอกจากนี้ในกลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ยังดำเนินโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่แปลงสมาชิก FSC  (Forest Stewardship Council) และพื้นที่ป่าชุมชน ประกอบด้วย ป่าชุมชนบ้านทุ่งหัวเมือง ป่าชุมชนบ้านต้นไทร และป่าชุมชนบ้านช่องเขา คิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 2,393 ไร่

 

  • ปฏิรูป และเปลี่ยนแปลง (Regenerate and Transform) - บริษัทฯ นำแนวทางการจัดการไร่อ้อยที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามหลักเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” เข้ามาส่งเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ด้วยการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุนการทำไร่อ้อย โดยหลักของ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” นั้นจะช่วยให้ลดปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชลง เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ปรับปรุงของดินและคุณภาพของอ้อย นอกจากนี้กลุ่มมิตรผลได้มีการรณรงค์การตัดอ้อยสด ลดการเผาไร่อ้อย ตลอดจนการส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งส่งเสริมความรู้การจัดการเกษตรแม่นยำ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน และสร้างวิถีการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนช่วยดูแลรักษาระบบนิเวศอีกด้วย