นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน


บทนำ

    จรรยาบรรณมิตรผล โดยในด้านสิทธิมนุษยชนนั้น บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights; UDHR) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact หรือ UNGC) หลักการชี้แนะเรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับธุรกิจแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights; UNGP) หลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labor Organization’s Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) รวมถึงหลักฉันทานุมัติที่ได้รับ การรับรู้ บอกแจ้งล่วงหน้า และเป็นอิสระ (Free, Prior, and Informed Consent; FPIC) ภายใต้ ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples - UNDRIP)

 

ขอบเขต

     นโยบายสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ครอบคลุมกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัทย่อย ในที่นี้หรือ “บริษัท” รวมถึงการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (การควบรวม การเข้าซื้อกิจการ และกิจการร่วมค้า) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้คู่ค้าและผู้ร่วมธุรกิจ หมายถึง องค์กร กลุ่มบุคคล หรือบุคคลทำหน้าที่จัดหาวัตถุดิบ และให้บริการต่างๆ ให้แก่บริษัท ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

แนวปฏิบัติ

     กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน จะต้องตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักการสากล    ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ อันประกอบด้วย การเคารพสิทธิในการเจรจาต่อรอง (Right to collective bargaining) เสรีภาพในการสมาคม (Freedom of association) การกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Equal remuneration) การป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) การต่อต้านการคุกคามทั้งที่เกี่ยวข้องกับทางเพศและรูปแบบอื่นๆ (Protection against anti-harassment in both sexual and non-sexual) การต่อต้านการค้ามนุษย์ (Human trafficking)  การบังคับใช้แรงงาน (Forced labor) แรงงานเด็ก (Child labor) สิทธิในที่ดิน (Land rights) สิทธิชุมชน (Community rights) และ สิทธิอื่นๆ (Other rights) ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อสิทธิของกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Groups) ได้แก่ เด็ก ผู้พิการ สตรี ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานที่จ้างผ่านบุคคลที่สาม เพศทางเลือกและผู้สูงอายุ ในทุกๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท

 

     เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกิจกรรมทางธุรกิจทั้งภายในบริษัท รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และสนับสนุนให้คู่ค้าและผู้ร่วมธุรกิจมีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ โดยเคารพถึงสิทธิมนุษยชน และนำหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนตามนโยบายนี้ไปปรับใช้ โดยได้กำหนดนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ดังนี้

 

1. เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย และหลักสิทธิมุนษยชนต่อบุคคลอย่างเท่าเทียม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด ศาสนา ความเชื่อ เพศ สีผิว ภาษา เผ่าพันธุ์ สถานะทางสังคม หรือสถานะอื่นใดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในทุกพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ

 

2. ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

 

3. ระบุ และประเมินความเสี่ยง ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชอย่างรอบด้าน โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบ และสม่ำเสมอ ในทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท และตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) พร้อมกำหนดแนวทางในการติดตาม ตรวจสอบ และจัดการอย่างเหมาะสม เมื่อมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น และต้องพิจารณาความรับผิดชอบโดยเร็ว รวมถึงจัดให้มีกระบวนการเยียวยาบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลตามหลักความยุติธรรมและความเสมอภาค

 

4. สนับสนุนและส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในทุกรูปแบบ โดยให้มีส่วนร่วม เคารพ และปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

5. สื่อสาร เผยแพร่ ให้ความรู้ ทำความเข้าใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนคู่ค้าและผู้ร่วมธุรกิจ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ โดยเคารพและปฏิบัติต่อทุกคนตามหลักสิทธิมนุษยชนตามแนวนโยบายนี้

 

6. สอดส่องดูแลเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ละเลย เพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือแจ้งไปยังช่องทางที่กำหนดไว้ (Whistleblowing)

 

ประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 

                (นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ)

         ประธานกรรมการบริษัท กลุ่มมิตรผล