ความท้าทาย
นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เราได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานได้แบบไร้รอยต่อ รวมไปถึงความพยายามในการคิดค้นและนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวนที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นความท้าทายของกลุ่มมิตรผลที่ต้องปรับตัว ดำเนินงานเชิงรุก และแสวงหาแนวทางและเครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที รวมไปถึงการพัฒนาองค์กร พัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนากระบวนการทำงาน ตลอดจนพัฒนาพนักงานจึงเป็นสิ่งที่เราดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งในส่วนข้อมูลองค์กรและข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำพาองค์กรก้าวสู่ความมั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน
ความมุ่งมั่นและแนวทางบริหารจัดการ
กลุ่มมิตรผลมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนด้วยการมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นรากฐานขับเคลื่อนการทำงานในมิติต่างๆ การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล เป็นหนึ่งในความสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งสามารถรองรับงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพันธุ์อ้อยและการจัดการ (Crop Production) ด้านปฏิบัติการเทคโนโลยีอ้อย (Sugarcane Technology Operations) ด้านพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการอ้อย (Sugarcane Technology and Management) ด้านการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำตาล (Sugar Technology and Specialty) ด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-based Chemicals and Energy) และศูนย์ข้อมูลงานวิจัยระดับสากล (Global Sourcing for Innovation) นอกจากนี้กลุ่มมิตรผลได้ให้ความสำคัญต่อการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ได้แก่ การคิดค้นและพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อการทำงาน รวมไปถึงแนวทางการบริหารจัดการอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ให้เกิดการใช้ประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุดเพื่อลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย
การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลคอมพิวเตอร์และการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นภารกิจสำคัญที่กลุ่มมิตรผลได้มีการดูแลบริหารจัดการอย่างรอบคอบให้เกิดความปลอดภัย โดยปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตอกย้ำและส่งเสริมความตระหนักถึงความเสี่ยงภัยทางไซเบอร์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจกับพนักงานและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
การดำเนินงานที่สำคัญ
การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม
ด้วยแนวคิดการนำของเหลือจากการเกษตรกลับมาใช้ในการเกษตรกรรมโดยนำมาทำเป็นวัสดุกักเก็บความชื้นทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการตกค้างของสารเคมีต่างๆ ในสิ่งแวดล้อม ได้มีการศึกษาการนำชานอ้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล มาใช้เป็นส่วนประกอบของสารอุ้มน้ำ ทำให้สารอุ้มน้ำจากชานอ้อยสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สามารถดูดซับน้ำไว้ได้มากกว่า 150 เท่าและปลดปล่อยน้ำให้แก่รากพืชได้ โดยสารอุ้มน้ำจากชานอ้อยสามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชและช่วยในการยืดอายุการอยู่รอดของพืชในสภาวะแล้งได้
รูปที่ 1 สารอุ้มน้ำจากชานอ้อย (ซ้าย) เมื่อบวมน้ำเต็มที่ (กลาง) และเมื่อรากอ้อยเจริญแทรกเข้าไปในสารอุ้มน้ำจากชานอ้อย เพื่อดูดน้ำ (ขวา) |
เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและเกิดสภาวะแล้งได้ในบางปี จึงเกิดการศึกษาและพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ๆ ทุกปี ทำให้พบพันธุ์อ้อย MPT12-1782 ที่สามารถทนต่อสภาวะแล้งและเจริญเติบโตได้ดีแม้ขาดน้ำได้นานเป็นเดือน
ปัจจุบันมีการส่งเสริมการเกษตรแบบอินทรีย์มากขึ้น โดยการประยุกต์ใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่ช่วยส่งเสริมการเจริญของพืช จึงมีการศึกษาคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ที่บริเวณรากพืชและสามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนในอากาศมาเป็นปุ๋ยไนโตรเจนให้แก่รากพืชได้ สามารถละลายฟอสฟอรัสในดินให้อยู่ในรูปแบบที่รากพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์พร้อมทั้งสามารถสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ด้วย รวมไปถึงมีการพัฒนากระบวนการเก็บกักเชื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวเพื่อให้สามารถอยู่รอดในสภาวะต่างๆ ได้ยาวนานกว่าและสามารถใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมการเกษตรแบบอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และส่งเสริมการกำจัดศัตรูพืชแบบเจาะจงมากขึ้น ได้มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเชื้อราเขียว สามารถปราบหนอนกออ้อย ซึ่งเป็นแมลงศัตรูสำคัญสำหรับอ้อย จึงลดความสูญเสียจากการปลูกอ้อยได้ดี
การพัฒนาระบบงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
กลุ่มมิตรผล ร่วมกับ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาระบบการชำระเงินค่าอ้อยล่วงหน้า หรือเงินส่งเสริม (เกี๊ยวเงินและเกี๊ยวของ) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านอ้อยมีประสิทธิภาพ อำนวยความให้กับชาวไร่หมดภาระเรื่องเงินลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้ โดยการนำระบบดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ในรูปแบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) และบัตรชาวไร่อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นตัวช่วย นอกจากนี้ช่วยลดการใช้กระดาษในการออกเช็คและใบเสร็จรับเงิน ลดความเสี่ยงในการถือเงินสด และลดขั้นตอนการทำงานในการเบิกจ่ายเงินสด
ลดการใช้กระดาษได้ 160,000 แผ่นต่อปี หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 150 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
บริษัทได้พัฒนาโปรแกรมเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการวิเคราะห์ข้อมูลด้านต้นทุนของวัตถุดิบ รวมทั้งประกอบการตัดสินใจในกระบวนการผลิตและการขนส่งไปยังลูกค้า ซึ่งให้ความแม่นยำในการประมวลผลข้อมูล สร้างความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ
กลุ่มมิตรผลร่วมลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการอัพเกรดคอมพิวเตอร์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี ให้รองรับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้ยาวนานขึ้น ลดปริมาณการซื้อเครื่องใหม่ และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
การยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ได้มีการดำเนินการ ดังนี้
การจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งมีการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ 3 ด้าน คือ
การกำหนดเป้าหมาย ดังนี้
1. การดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity)
2. การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้สามารถรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที (Responsive Security)
3. การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล (Global Benchmark)
การพัฒนาองค์ประกอบ 3 ด้าน เพื่อลดความเสี่ยงภัยด้านไซเบอร์และด้านข้อมูล และสามารถรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในทุกมิติ ได้แก่
1. ด้านเทคโนโลยี (Technology) เช่น
- ติดตั้งระบบยืนยันตัวตนมากกว่า 1 ชั้น (Multi-Factors Authentication) การใช้งาน Email กับพนักงาน
ทุกคนในองค์กร รวมถึงระบบที่สำคัญ
- เพิ่มขีดความสามารถในการเฝ้าระวังและตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์เชิงรุกด้วยการตรวจจับ Email และ
เว็บไซต์ปลอม (Domain and Website Filtering)
- ดำเนินการต่อเนื่องในการซ่อมแซมช่องโหว่เกิดใหม่ของระบบ (Patch Management)
2. ด้านกระบวนการ (Process) เช่น
- จัดเตรียมช่องทางในการรับแจ้งภัยไซเบอร์ทั้งจากพนักงานและจากบุคคลภายนอก โดยระบบดังกล่าว
สามารถบันทึกและติดตามการแก้ไขปัญหาตลอดกระบวนการ
- มีการนำข้อมูลที่ได้จากระบบบันทึกภัยไซเบอร์มาใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการ
เชิงป้องกัน โดยมีการรายงานต่อคณะกรรมการความปลอดภัยทางไซเบอร์ทุกเดือน
- กำหนดขั้นตอนการปฎิบัติเพื่อตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์ กระบวนการในการสื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้อง
โดยมีการกำหนดผู้รับผิดชอบในขั้นตอนต่าง ๆ และระยะเวลาเป้าหมายในการดำเนินการ
(Service Level Agreement – SLA) ที่ชัดเจนตลอดกระบวนการ
- จัดให้มีการซ้อมขั้นตอนการปฎิบัติเพื่อตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์ และนำผลจากการเรียนรู้จากการ
ซ้อมแผนมาปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ด้านบุคลากร (People) เช่น
- คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารเข้าร่วมการอบรมเรื่องภัยไซเบอร์และการบริหารจัดการด้าน
Cybersecurity และ Data Protection และให้การสนับสนุนการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ของกลุ่มมิตรผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการให้ความสำคัญและกระตุ้นให้พนักงาน
เพิ่มความตระหนักมากขึ้น
- พนักงานทุกคนทุกระดับเข้าร่วมเรียนรู้ New Skill เรื่องภัยไซเบอร์ วิธีการสังเกต การป้องกันภัย และการ
ตอบสนองและรับมืออย่างถูกวิธี ผ่านระบบ E-Learning ผลการทดสอบหลังการอบรม (Post Test) สูงกว่า
ก่อนการอบรม (Pre Test) คิดเป็น 81% ของผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 4,320 คน
- จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อแชร์ประสบการณ์ภัยไซเบอร์ที่เกิดจริงให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
เพื่อร่วมกันระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการปฎิบัติหน้างาน
- ประชาสัมพันธ์ Cyber Alert!! แจ้งเตือนภัยพนักงานทันที เมื่อมีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง
ปลอดภัยทางไซเบอร์
- ประชาสัมพันธ์ Cybersecurity Need to Know ให้ความรู้ ข่าวสาร เพื่อเสริมความรู้ด้าน Cybersecurity และ
Data Security ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง
- จัดให้มีการซ้อมขั้นตอนการปฎิบัติเพื่อตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์ และนำผลจากการเรียนรู้จากการ
ซ้อมแผนมาปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น