ผู้มีส่วนได้เสียหลัก: ชุมชน / พนักงาน / หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม / เกษตรกร ชาวไร่ / ลูกค้า

 

ชุมชนเปรียบเสมือนเพื่อนบ้านของกลุ่มมิตรผล การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ย่อมทำให้สังคมของเราเป็นสังคมที่น่าอยู่ มากกว่าสิบปีที่กลุ่มมิตรผลได้มีการดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นในด้านสังคมและชุมชนอย่างต่อเนื่อง การเติบโตที่ยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนโดยรอบ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคการศึกษา พันธมิตรภาคเอกชน รวมถึงพนักงานในองค์กรที่มีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องสังคมอย่างจริงจัง

 

นอกจากนี้ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ยังนับเป็นปัจจัยที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะการที่ทุกคนมีความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการตามความต้องการทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเผชิญกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือสภาพภูมิอากาศ จะก่อให้เกิดชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้ดำเนินงานเรื่องความมั่นคงทางอาหารร่วมกับชุมชน ผ่านการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน  

 

ดังนั้น บริษัทจึงต้องหาแนวทางในการสร้างคุณค่าร่วม และตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมกับการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนให้กับสังคมและชุมชนโดยรอบ เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และพึ่งพาตนเองได้  พร้อมทั้งการยกระดับพัฒนาสินค้าของชุมชนไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงงานการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่นอีกด้วย

 

แนวทางบริหารจัดการ

 

กลุ่มมิตรผลมีหน่วยงานที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมและชุมชน อันประกอบด้วยหน่วยงานพัฒนาชุมชน หน่วยงานชุมชนสัมพันธ์ และหน่วยงานบริหารการศึกษา โดยกำหนดให้มีหน่วยงานพัฒนาชุมชนและหน่วยงานชุมชนสัมพันธ์ประจำพื้นที่โรงงานของกลุ่มมิตรผล เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างสะดวก กระชับ สามารถตอบสนองความต้องการ และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่หน่วยงานบริหารการศึกษานั้นจะเป็นหน่วยงานส่วนกลางทำงานร่วมกับพื้นที่ในแต่ละโรงงาน

 

คลิ๊กเพื่อดูแนวทางการบริหารจัดการสังคมและชุมชน

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

1. การดำเนินงานด้านพัฒนาชุมชน

 

จากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากจุดเริ่มต้นในการสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนที่กลุ่มมิตรผลได้ขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงในหลายจังหวัดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่และคนในชุมชน เพื่อให้เติบโตเป็นชุมชนที่มีภูมิคุ้มกัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงนำมาซึ่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมขึ้นในหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์และมาตรฐานรับรอง  ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในชื่อ “บริษัท ปลูกเพาะสุข จำกัด” เพื่อเป็นตัวกลางระหว่าง“คู่ค้า”และ“เกษตรกรในชุมชน” รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในการเพาะปลูก/วางระบบการตลาด/ราคา ให้เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาที่ดีที่สุด และช่วยหาช่องทางจำหน่าย เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการจัดจำหน่ายตามช่องทางต่างๆ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างภาพสะท้อนความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานผู้พิการในชุมชน เพื่อสนับสนุนโอกาสในการสร้างอาชีพ สร้างคุณค่า ความเท่าเทียม และความภาคภูมิใจให้แก่ผู้พิการ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยฝ่ายพัฒนาชุมชนของกลุ่มมิตรผลในการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ และช่วยบริหารจัดการผลผลิตของชุมชนให้สามารถเข้าถึงตลาดที่มั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ปัจจุบันบริษัท ปลูกเพาะสุข จำกัด มีเงินรายได้หมุนเวียนรวมทั้งหมด 204,645 บาท 

 

1.1 ด้านการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน

  • ครัวเรือนอาสาเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,204 ครัวเรือน 
  • คณะกรรมการตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา จำนวน 398 คน 
  • ศูนย์เรียนรู้ตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา จำนวน 10 แห่ง 
  • สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ โดยมีการจ้างงานพนักงานผู้พิการ ดังนี้ 
    • มาตรา 33 จำนวน 89 คน โดยปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จำนวน 50 คน โดยร่วมทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียนในชุมชน ศูนย์เรียนรู้ตำบล  

    • มาตรา 35 ประกอบกิจการตนเอง จำนวน 1 คน  

    • การจัดตั้งชมรมคนพิการจำนวน 9 ชมรม เพื่อเป็นการร่วมกันพัฒนากระบวนการรวมกลุ่ม ทักษะความรู้ และจัดสวัสดิการให้กับผู้พิการภายในชุมชนร่วมกับประสานงานกับหน่วยงานภาคีในการร่วมพัฒนาผู้พิการ 

 

1.2 ด้านการพัฒนาระบบเกษตรและอาหารปลอดภัย

ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์และมาตรฐานรับรอง ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IOT ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในชุมชนรอบโรงงาน จนสามารถพัฒนากระบวนการผลิตที่มีคุณภาพตามระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems; PGS) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices; GAP) รวมถึงสามารถพัฒนาความรู้กลไกการตลาดและประสานช่องทางตลาดที่มั่นคง เพื่อให้เกษตรกรสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตจากการที่สามารถปลูกอยู่ปลูกกินและมีฐานอาหารที่มั่นคง ไปสู่การสร้างรายได้เสริมที่มั่นคงควบคู่กับการทำไร่อ้อย โดยจากการขับเคลื่อนการส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยในพื้นที่ 8 โรงงาน ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการทำเกษตรปลอดภัยของเกษตรกร ดังนี้

  • เกิดกลุ่มปลูกผัก จำนวน 22 กลุ่ม 
  • สมาชิกผู้ปลูกผักปลอดภัยเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 259 คน 
  • รายได้หมุนเวียนจากการปลูกผักรวมทั้งหมด 2,297,208 บาท 
  • รายได้หมุนเวียนจากช่องทางตลาดออนไลน์ Line Official “ข้าว ผัก ปลา”  รวมทั้งหมด 274,759 บาท 

 

1.3 ด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน 

ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพบนพื้นฐานของความสามารถและทรัพยากรของท้องถิ่นที่มีอยู่ เพื่อสร้างรายได้ควบคู่กับการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ทั้งด้านต้นทุนการผลิต และการตลาด ด้วยการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มกิจกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้บริหารโรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลที่ต้องการสนับสนุนและรับซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งถือเป็นช่องทางการตลาดที่มั่นคงและเป็นการกระจายรายได้ให้กับเกษตรกรรอบโรงงาน ดังนี้ 

 

  • เกิดกลุ่มอาชีพ จำนวน 16 กลุ่ม  
  • รายได้หมุนเวียนจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งหมด 1,284,535 บาท 

 

2. การดำเนินงานด้านชุมชนสัมพันธ์

 

2.1 โครงการ คลินิก ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าในในครัวเรือนเพื่อชุมชนเคลื่อนที่

 

การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับสังคมและชุมชนโดยรอบของกลุ่มมิตรผล เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงโอกาสในด้านต่างๆ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้นำหลักการ ความเข้าใจ การเข้าถึง และการพัฒนา มาประยุกต์ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน และเกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนร่วมกันระหว่างกลุ่มมิตรผล ชุมชน และภาคีเครือข่าย  

 

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา และเป็นสถานศึกษาในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ได้จัดทำ โครงการคลินิก ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าในในครัวเรือนเพื่อชุมชนเคลื่อนที่ ให้บริการในเขตเทศบาลตำบลหนองเรือ ตำบลหนองเรือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และเพื่อเสริมสร้างให้นักศึกษาระดับชั้น ปวช. ภาควิชาไฟฟ้ากำลัง จำนวน 15 คน ได้ฝึกปฏิบัติงานจริงและสร้างจิตอาสานำวิชาชีพมาบริการชุมชน เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษามีทักษะและมีความพร้อมสร้าง-ซ่อมในการประกอบอาชีพ ซึ่งโครงการนี้ มีประชาชนนำเครื่องใช้ไฟฟ้ามารับบริการซ่อมแซมกว่า 150 คน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้กว่า 50,000 บาท  

 

2.2 วิสาหกิจชุมชนทอเสื่อกก บ้านนาหมอม้า ต้นกกทรงคุณค่าจาก “บ่อ” สู่ “บ้าน” 

 

บ้านนาหมอม้า ต.นาหมอม้า  อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ มีชื่อเสียงด้านการทอเสื่อกก จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มเสื่อกกขึ้นที่บ้านนาหมอม้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เดิมทีชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่นาหมอม้าทำอาชีพเกษตรกรรม เมื่อสิ้นสุดฤดูทำนา ชาวบ้านจะว่างงานไม่มีอาชีพทำ จึงมีการจัดตั้งกลุ่มทอเสื่อกกขึ้นเป็นอาชีพหลัก  เนื่องจากการทอเสื่อกกเป็นวิถีดังเดิมมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาแต่ยาวนาน ปัจจุบันมีกลุ่มวิสาหกิจมีการพัฒนาลวดลายเสื่อกกให้ทันสมัยมากขึ้นจากเดิมที่มีแค่สีธรรมชาติจากกก เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่นๆที่ทำจากต้นกก เช่น กระเป๋า หมวก เครื่องประดับ กล่องใส่กระดาษทิชชู่ และอื่นๆอีกมากมาย ชาวบ้านที่ทำอาชีพเสื่อกกมีรายได้ตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งเป็นอาชีพที่อิสระและสามารถทำเองได้ที่บ้าน  

 

ซึ่งจากการทำงานร่วมกับชุมชน ทำให้ทราบว่าต้นกกที่ชาวบ้านนำมาทอเสื่อกกนั้น เป็นต้นกกที่ปลูกในพื้นที่นาตนเอง และซื้อมาจากแหล่งใกล้เคียงอื่นๆ  ทางโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ จึงได้ดำเนินโครงการจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย โดยใช้ระบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถบำบัดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับระบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland) ซึ่งจะนำน้ำจากระบบตะกอนเร่ง มาผ่านระบบบึงประดิษฐ์ ซึ่งจะมีต้นกกคอยดักจับสารอินทรีย์ต่างๆ  ทำให้ต้นกกมีความอุดมสมบูรณ์แข็งแรงและมีคุณภาพดี โดยทางโรงงานอนุญาตให้ชุมชนเข้ามาตัดต้นกกเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบได้อย่างต็มที่ เพื่อช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวบ้านนาหมอม้าได้อย่างยั่งยืน และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนและโรงงาน

 

2.3 CSR เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ธนาคารขยะรีไซเคิล โรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (โรงเรียนมิตรผลร่วมพัฒนา) 

 

กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง โดยได้ส่งเสริมให้เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ ได้นำนโยบายดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบพื้นที่โรงงาน ทั้งหมด 7 โรงงาน และ 1 โครงการขยาย ผ่านแผนงานโครงการ “Circular Economy” เป็นการส่งเสริมให้เกิดการจัดการขยะอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ เพื่อลดปริมาณขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะมากยิ่งขึ้น โดยอุทยานมิตรผลกาฬสินธุ์ ได้เริ่มดำเนินโครงการ Circular Economy กับโรงเรียนสมสะอาดพิทยาสรรพ์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

 

  1. อบรมให้ความรู้แก่นักเรียน เรื่อง การคัดแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทางนำไปสู่การจัดการอย่างถูกวิธี
  2. ​​อบรมความรู้การจัดการธนาคารขยะผ่านแอปพลิเคชั่น Koomkah โดยมีวิทยากรจาก ทีม Circular Economy บริษัท เอสซีจี พลาสติกส์ จำกัด เข้ามาให้ความรู้  เพื่อยกระดับการบริหารจัดการธนาคารด้วยเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความรวดเร็วในการรับซื้อและการบริหารจัดการ รวมถึงมีความสะดวกรวดเร็วในการติดตามการทำงานธนาคารขยะ
  3. กิจกรรมแต่งตั้งและประชุมคณะกรรมการธนาคารขยะ  
  4. กิจกรรมเปิดธนาคารรับซื้อขยะจากสมาชิก  ซึ่งขยะรีไซเคิลที่รับซื้อมานั้น จะจำหน่ายให้กับร้านรับซื้อของเก่าในชุมชน เพื่อส่งต่อไปยังแหล่งรีไซเคิลขยะต่อไป ซึ่งจากปริมาณขยะที่รับซื้อมานั้น สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 904.09 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  

 

3. การดำเนินงานด้านบริหารการศึกษา

 

การขับเคลื่อนงานบริหารการศึกษาของกลุ่มมิตรผลดำเนินโครงการภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) กลุ่มมิตรผล และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership school project) กลุ่มมิตรผล โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

 

3.1 โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED กลุ่มมิตรผล 

 

3.1.1 จัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center)  

 

  • ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) โดยจัดอบรมพัฒนาทักษะการสอน การจัดทำสื่อการสอน ตลอดจนสนับสนุนหนังสือเรียนและคู่มือการสอนตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) 
  • ส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ผู้เรียนรักที่จะตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล และปรับปรุงพัฒนา ต่อยอดสู่การพัฒนาทักษะเด็กไทยในศตวรรษที่ 21

 

3.1.2 ส่งเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Literacy)  

  • ส่งเสริมให้ “ผู้สอนและผู้เรียน” ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการข้อมูล และการออกแบบการจัดการเรียนการสอนผ่านรูปแบบดิจิทัลได้อย่างมืออาชีพผ่านโครงการส่งเสริมความเชี่ยวชาญในการใช้ Google  
  • ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในการสืบค้นและขยายทักษะองค์ความรู้นอกเหนือจากในห้องเรียน สู่การเรียนรู้ทักษะอาชีพหรือเรื่องที่สนใจอื่น ๆ ได้ตามความถนัดของผู้เรียน ผ่านโครงการ Notebook For Education ที่ระดมทุนเพื่อสนับสนุนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา ได้รับงบประมาณ 1,227,905 บาท เพื่อจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คจำนวน 80 เครื่อง ให้กับโรงเรียนในโครงการฯ จำนวน 6 โรงเรียน ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

3.1.3 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยวัฒนธรรมองค์กร Mitr Beyond – Trustworthiness

  • เสริมสร้างกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชนในการจัดการศึกษาของบุตรหลานตนเองผ่านกระบวนการชวนคิด ชวนสร้าง ชวนเสริมที่มีผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (School Partner) ในพื้นที่เป็นตัวกลางในการสร้างความร่วมมือ 

  • โครงการมิตรอาสาเพื่อการศึกษา ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้พนักงานที่มีจิตอาสาใช้ความรู้ความสามารถในการทำประโยชน์ต่อสังคม ได้มีโอกาสร่วมกับ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยให้พนักงาน “ยกมืออาสา อาสาด้วยความจริงใจ” เพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของกลุ่มมิตรผลสู่สังคมภายนอก อันเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญ

 

3.2 โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) กลุ่มมิตรผล

 

กลุ่มมิตรผลมีเป้าหมายในการสร้างต้นแบบด้านนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษารูปแบบใหม่ และยกระดับวิทยาลัยการอาชีพหนองเรือเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมชั้นสูงขอนแก่น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ (Learning Ecosystem) ซึ่งประกอบด้วย  

  • มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ โดยส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิชาการด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) 
  • พัฒนาด้านทักษะอาชีพที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ เพื่อให้นักเรียนได้รับการวางรากฐานทักษะอาชีพที่ดีสำหรับอนาคต  
  • ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครู ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ให้มีทักษะการสอนที่จำเป็นสำหรับจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ คิดวิเคราะห์เป็น (Critical Thinking) คิดสร้างสรรค์ (Creativity) ทำงานเป็นทีม (Collaboration) สื่อสารและนำเสนอเป็น (Communication)  ตลอดจนทักษะแห่งอนาคต ได้แก่ ภาษาอังกฤษ และทักษะด้านเทคโนโลยี 
  • ปรับสภาพแวดล้อมในห้องเรียนและสร้างแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ 
  • สร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างโรงเรียนและชุมชน   

 

คลิ๊กเพื่อดูโครงการที่ดำเนินงานภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) กลุ่มมิตรผล