แนวทางการเพิ่มผลผลิต


 

ในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มมิตรผล ได้ก่อตั้งบริษัท มิตรผลวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้องค์กรก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน การตัดสินใจดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้องค์กรได้พัฒนาแนวทางในการจัดการไร่อ้อย ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์อ้อย ปรับปรุง คุณภาพดิน พัฒนาวิธีการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพ วิจัยโรคพืชและแมลง การใช้เทคโนโลยีเพื่อการปลูกอ้อยที่เหมาะสม ตลอดจนการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องและทุ่นเวลา จากแนวทางดังกล่าวผนวกกับความอุตสาหะของกลุ่มธุรกิจกลุ่มงานอ้อยของมิตรผล ทำให้การจัดการไร่อ้อยเกิดประสิทธิผลและมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากขึ้น

 

และในปี พ.ศ. 2545 กลุ่มมิตรผล ได้ริเริ่ม“โครงการหมู่บ้านมิตรผลเพิ่มผลผลิต” ด้วยความร่วมมือกับอนุกรรมการอ้อยส่วนท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มุ่งเน้นให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงในการทำไร่อ้อยของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ แล้วนำปัญหาเหล่านั้นมาสรุป วิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน ตลอดจนร่วมกันคัดเลือกเทคโนโลยีด้านการผลิตอ้อยที่เหมาะสมกับศักยภาพของชาวไร่เพื่อมาใช้แก้ปัญหา ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่เฉลี่ยจาก 7-8 ตันต่อไร่ ขึ้นเป็น 10-15 ตันต่อไร่ ส่งผลให้กำไรของเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมไร่ละ 3,000-5,000 บาท ปัจจุบันมีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านมิตรผลเพิ่มผลผลิตมากกว่า 376 แห่ง ในพื้นที่ส่งเสริมของโรงงานน้ำตาลทั้ง 6 แห่งของกลุ่มมิตรผล มีพื้นที่ดำเนินการมากกว่า 100,000 ไร่

 

 

   
เพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่
เฉลี่ยจาก 7-8 ตันต่อไร่ ขึ้นเป็น 10-15 ตัน ต่อไร่ ส่งผลให้กำไรของเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมไร่ละ 3,000-5,000 บาท
  เลือกเทคโนโลยีด้านการผลิตอ้อย
ผลผลิตมากกว่า 376 แห่ง ในพื้นที่ส่งเสริม ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 6 แห่งของกลุ่มมิตรผล
  ส่งเสริมระบบชลประทาน
ส่งเสริมระบบชลประทานในพื้นที่ปลูกอ้อย

 

เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักเพื่อการเจริญเติบโต จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งต่อเกษตรกร ด้วยความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ อีกทั้งภัยแล้งที่มีสาเหตุจากภาวะโลกร้อนเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีทางเลือกที่เหมาะสมในการจัดการน้ำ ตั้งแต่ปี 2549 กลุ่มมิตรผลจึงได้ริเริ่มโครงการจัดสร้างและส่งเสริมระบบชลประทานในพื้นที่ปลูกอ้อย ด้วยความร่วมมือกับอนุกรรมการอ้อยส่วนท้องถิ่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีแหล่งน้ำในการทำการเกษตรและลดความเสี่ยงเนื่องจากฝนแล้ง ซึ่งตั้งเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่ส่งเสริมที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแบบ Fully Irrigation โดยสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้ชุมชนมีแหล่งน้ำเพาะปลูกที่เพียงพอและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตอ้อย เช่น การขุดสระน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาล และการสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมทั้งต่อท่อส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร เป็นต้น โดยปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานทั้งแบบ Supplement และ Fully Irrigation รวมทั้งสิ้น 916,787ไร่ คิดเป็น 47.15 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยทั้งหมดของกลุ่มมิตรผล

 

หลังจากในชุมชนมีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกอ้อยแล้ว มิตรผลได้ดำเนินการส่งเสริมและแนะนำการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพรวมทั้งการดำเนินการส่งเสริมให้น้ำอ้อยตามความต้องการของอ้อยอย่างแท้จริงโครงการน้ำหยด (Drip Irrigation) ของโรงงานมิตรผล (จังหวัดสุพรรณบุรี) ได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานส่งเสริมระบบน้ำหยดบนดินปี พ.ศ. 2551 จำนวน 13,000 ไร่ ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าสามารถครอบคลุมพื้นที่ส่งเสริมได้ดีกว่าเป้าหมาย กล่าวคือ 13,680 ไร่โดยติดตั้งระบบน้ำหยดได้ถึง 1,368 ชุด ผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 15 ตันอ้อยต่อไร่