ผู้มีส่วนได้เสียหลัก: พนักงาน

 

พนักงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและเป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย การเตรียมความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการพนักงานให้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งที่กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญ ด้วยบริบททางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีรูปแบบที่คล่องตัว หรือเรียกว่า Agile Organization ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งปลูกฝังองค์ความรู้ ความสามารถ และการทำงานแบบ MITR beyond ให้บุคลากรของมิตรผลสามารถนำพาองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน (Cultivating for All)

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

 

กลุ่มมิตรผลจัดทำกลยุทธ์การบริหารจัดการพนักงาน การดูแลและพัฒนาพนักงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อสนับสนุนต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยได้ปรับเปลี่ยนแนวทางให้มีความคล่องตัวมากขึ้นหรือเรียกว่า Agile Organization เพื่อให้สามารถตอบสนองการทำงานได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดนโยบายด้านความหลากหลาย อันแสดงถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการให้พนักงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในสถานที่ทำงานโดยไม่มีการแบ่งแยก ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ ค่านิยม และวัฒนธรรม รวมถึงผู้ทุพพลภาพ และให้ความเสมอภาคตั้งแต่กระบวนการสรรหา การจ้างงาน และการแต่งตั้ง รวมไปถึงการจัดหาสวัสดิการในด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งพนักงานและครอบครัว

 

นอกจากนี้บริษัทยังมีความมุ่งมั่นในการจะประเมินค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพนักงานให้แก่พนักงาน (Living wage) โดยในปีนี้บริษัทได้ทำการประเมินและปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทน (Salary Structure) และอัตราค่าตอบแทนเริ่มต้น พร้อมทั้งพิจารณาให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ (Cost of Living Allowance) และอาหารเพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพนักงานอีกด้วย

 

ในด้านการส่งเสริมทักษะให้กับพนักงาน สถาบันพัฒนามิตรผลได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ของพนักงานให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุค Digital disruption โดยได้เสริมความรู้ด้านดิจิทัลให้กับพนักงานในหลักสูตร MITR beyond Reskill, Upskill และ Future Skill เพื่อเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) พัฒนาทักษะเดิมในบริบทใหม่ (Upskill) และสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในอนาคต (Future Skill) เพื่อให้พนักงานสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้ยังพัฒนาหลักสูตร Mitr Phol Transformational Leadership Program สำหรับ Future Leader ผ่านการพัฒนาตามแนวทาง 70:20:10 เรียนรู้ด้วยตนเองและจากการปฏิบัติงาน ร้อยละ 70 เรียนรู้จากผู้อื่นและการสอนงาน ร้อยละ 20 และเรียนรู้จากการฝึกอบรม ร้อยละ 10 จากความเชื่อที่ว่าการพัฒนาบุคลากรผ่านประสบการณ์จริงจากการลงมือทำจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของพนักงานอย่างแท้จริง

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

1. การส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมของพนักงานในองค์กร(2-6)(2-7)

 

กลุ่มมิตรผลได้กำหนดนโยบายด้านความหลากหลาย เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้พนักงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในสถานที่ทำงาน โดยไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย และเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้พัฒนาศักยภาพ เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีความก้าวหน้าในการทำงาน

 

       อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ "นโยบายด้านความหลากหลาย" 

 

นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลยังให้ความสำคัญกับผู้ที่อยู่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบๆโรงงาน ด้วยการจ้างงานบุคลากรในท้องถิ่นเข้าทำงานในโรงงานและจ่ายผลตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราค่าตอบแทนพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน  และยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และบริษัทยังจ้างพนักงานทุพพลภาพในชุมชนผ่านโครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการได้ทำงานในสถานที่ใกล้บ้าน สร้างรายได้ของผู้พิการในชุมชนให้สามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นชมรมผู้พิการเพื่อขยายผลสร้างอาชีพให้ผู้พิการคนอื่นๆ ในตำบล โดยการจ้างงานดังกล่าวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้พิการสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข 

  • จ้างงานผู้พิการ 73 คน
    • ทำงานในองค์กร 32 คน
    • ทำงานในชุมชน 41 คน
  • จัดตั้งชมรมผู้พิการ 7 ชมรม มีสมาชิก 739 คน

 

 

2. การพัฒนาศักยภาพพนักงาน

 

2.1 หลักสูตร MITR Beyond Reskill-Upskill-Future Skill

 

หลักสูตรที่ช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ซึ่งเน้นพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำ ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ความรู้ด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความรู้ด้านความยั่งยืน ให้กับพนักงานและผู้บริหารของกลุ่มมิตรผล โดยการเรียนรู้ผ่าน Mitr Phol Learning Digital Platform ซึ่งภายหลังการเรียนรู้ จะมีการวัดผลด้วยการทดสอบความรู้หลังเรียน สรุปการเรียนรู้ที่ได้รับ รวมถึงการประยุกต์ความรู้ที่ได้รับในการทำงานและนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่าน Learning Community

 

โดยในปี 2565 กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานทุกระดับ โดยมีข้อมูลจำนวนชั่วโมงการฝึกอบรมพนักงาน ดังนี้

 

จำนวนชั่วโมงการฝึกอบรมของพนักงานกลุ่มมิตรผล ปี 2565 (404-1)

 

รายละเอียด

จำนวนชั่วโมงการฝึกอบรมพนักงานเฉลี่ย

(ชั่วโมง/ คน/ ปี)

จำนวนชั่วโมงการฝึกอบรมของกลุ่มมิตรผลเฉลี่ย

19.23

เพศ

ชาย

18.18

หญิง

22.19

ระดับของพนักงาน

ผู้บริหารระดับสูง

17.46

ผู้บริหารระดับกลาง

20.20

หัวหน้างาน

34.84

เจ้าหน้าที่

20.15

พนักงานระดับปฏิบัติการ

10.46

 

 

2.2 โครงการ Agile Way of Working

 

บริษัทส่งเสริมและพัฒนาเรื่อง Agile หรือแนวคิดในการทำงานที่ยืดหยุ่นและการปรับตัวอย่างรวดเร็วให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและปลูกฝัง Agile Mindset ให้กับพนักงาน เพื่อสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน โดยยึดหลักสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่

 

  1. การร่วมมือกันในการทำงาน
  2. ยึดผลลัพธ์ที่ใช้งานได้จริง
  3. การทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
  4. เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้

 

แต่ละกลุ่มธุรกิจได้จัดตั้งทีม Agile ขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจเรื่อง Agile ผ่านการปฏิบัติ และการแบ่งปันประสบการณ์ลงมือทำจริงจากสมาชิกในโครงการ รวมถึงการนำเครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและกำหนดตัววัดผล (Objective and Key Results: OKRs) มาใช้ เพื่อเชื่อมโยงเป้าหมายของธุรกิจกับผลลัพธ์ของโครงการ โดยโครงการมุ่งหวังผลลัพธ์ ดังนี้

  1. เกิดการพัฒนาวิธีการและกระบวนการทำงาน เพื่อช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Process improvement) ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น
  2. เกิดการคิดค้นพัฒนา สินค้าและบริการใหม่ (New product and services) เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มมิตรผล
  3. ลดต้นทุน หรือลดของเสียในการผลิตให้น้อยลง (Reduce lost and waste)
  4. แสวงหาโอกาสในการต่อยอด ขยาย หรือสร้างธุรกิจใหม่ให้กลุ่มมิตรผล (Seek new business opportunity)

ทั้งนี้ ในปี 2565 มีพนักงานเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,549 คน และมีไอเดียภายใต้โครงการทั้งหมด 142 โครงการ

 

 

2.3 หลักสูตร Mitr Phol Transformational Leadership Program (MTLP) 2022

 

หลักสูตรการเรียนรู้ผ่านการสร้างประสบการณ์จริงจากการลงมือปฏิบัติที่พัฒนา Future Leader ตามสมรรถนะผู้นำ (Mitr Phol Leadership Competency) โดยเน้นการพัฒนาในรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning)  เข้มข้นด้วย 3 รูปแบบการเรียนรู้ที่จะทำให้พนักงานได้รู้ลึก รู้จริง ลงมือทำจริง และก้าวสู่การเป็นผู้นำอย่างแท้จริง

  1. ห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Learning) โดยนำประสบการณ์การเรียนในห้องเรียนมาไว้บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านโปรแกรม MS Teams และ Zoom เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ ที่ผู้เรียนสามารถเชื่อมต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน หรือกับผู้สอนได้แบบ “Real-time”
  2. การเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ (Online Learning via Learning Platform)  ที่พนักงานสามารถเข้าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมีหัวข้อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
  3. การแบ่งปันในกลุ่มผู้เรียน (Projects-based Learning) โดยเรียนรู้จากการได้ลงมือทำโครงการจริง เพื่อสร้างผลลัพธ์ต่อธุรกิจ ด้วยกระบวนการ Design Thinking การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากผู้บริหารระดับสูงและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผ่านกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมภาวะการเป็นผู้นำ และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ ทั้งนี้การพัฒนาบุคลากรผ่านการทำโครงการร่วมกันดังกล่าวสามารถวัดผลการเรียนรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องการพัฒนาความรู้ ทักษะ การนำไปใช้ในการทำงาน ผลสำเร็จต่อเป้าหมายและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ รวมทั้งการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

 
 

 

  • MTLP1 สำหรับเจ้าหน้าที่/วิศวกร/หัวหน้ากะ ที่มีหน้าที่ในการดำเนินการตามเป้าหมายของทีมที่ได้กำหนดไว้ให้ลุล่วงด้วยตนเอง
  • MTLP2 สำหรับหัวหน้างาน ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือเทียบเท่า ที่มีบทบาทในการวางแผนบริหาร กำหนดเป้าหมายให้กับทีม ควบคุมผลงานและพัฒนาบุคลากรภายในทีม
  • MTLP3 สำหรับผู้จัดการ หรือเทียบเท่า ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทาง วางแผน และเป้าหมาย รวมถึงกำกับดูแลผลการดำเนินงานของหน่วยงานและพัฒนาบุคลากรภายในหน่วยงาน
  • MTLP4 สำหรับผู้อำนวยการ และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หรือเทียบเท่า ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทาง เป้าหมายในการนำองค์กรสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนและสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สนับสนุนกลยุทธ์ของกลุ่มมิตรผล ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาบุคลากรภายในหน่วยงาน

 

โดยในปี 2565 มีพนักงานเข้าร่วมหลักสูตรจำนวน 204 คน มีไอเดียภายใต้โครงการทั้งหมด 22 ไอเดีย ซึ่งหากสามารถดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมาย จะสามารถช่วยสร้างรายได้ หรือลดค่าใช้จ่ายให้แก่องค์กรได้

 

 

2.4 โครงการ MITR Beyond Innovation Awards 2022

 

บริษัทจัดการแข่งขันสุดยอดผลงานนวัตกรรม Mitr Beyond Innovation Awards เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรม MITR Beyond ของกลุ่มมิตรผล เพื่อให้พนักงานกล้าที่จะพัฒนา กล้าคิด กล้าทำสิ่งใหม่ ในปี 2565 มีพนักงานส่งผลงานเข้าร่วมทั้งหมด 479 ผลงาน จากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยการแข่งขันถูกจัดออกเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบ Ideate Pitching Project และรอบ Champ of the Champs  โดยรางวัลจะมอบให้กับโครงการที่สามารถพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจใหม่ในกลุ่มมิตรผล เพื่อสร้างคุณค่าและการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืน

 

 
 

 

 

3. การดูแลพนักงาน และการสร้างความผูกพันของพนักงาน

 

กลุ่มมิตรผลมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานทุกคน เพื่อให้เกิดความสมดุลในการปฏิบัติงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว บริษัทจึงดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งมีพนักงานที่เป็นตัวแทนพนักงานที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้าทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความต้องการด้านสวัสดิการของพนักงานให้บริษัทได้รับทราบ และร่วมให้ข้อเสนอแนะ ตรวจสอบ ดูแลการจัดสวัสดิการของบริษัท ซึ่งมีการจัดสรรสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากสวัสดิการพื้นฐานตามกฎหมายกำหนดให้แก่พนักงานทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

 
 

 

ในปี 2565 กลุ่มมิตรผลได้ทบทวนการปรับอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนให้แข่งขันได้กับตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมเดียวกัน และให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือพนักงานระดับปฏิบัติการ นอกเหนือจากการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน เช่น ช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม และมอบข้าวสารที่จัดหาจากแหล่งชุมชนรอบโรงงานให้กับพนักงานเป็นระยะเวลา 5 เดือน รวมถึงยังมีสวัสดิการอื่นๆ ที่เหมาะสมในแต่ละลักษณะงาน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำมันรถ ชุดพนักงาน ค่าของเยี่ยมผู้ป่วย และรางวัลอายุงาน อีกด้วย

 

นอกจากนี้ ยังจัดให้พนักงานสามารถเลือกช่วงเวลาการปฏิบัติงานแบบยืดหยุ่น (Flexible Working Hours) และปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ได้อย่างสะดวก รวมถึงการยื่นขออนุมัติวันลากิจหรือวันลาพักร้อนเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวได้ตามความเหมาะสม และมีการประเมินความเครียดของพนักงานผ่านแบบสอบถาม เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาแนวทางส่งเสริมคุณภาพที่ดีของพนักงาน รวมทั้งจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้

 

  1. โครงการส่งเสริมสุขภาพที่ดี
  • โครงการ Healthy Life Happy Life Campaign ที่เชิญชวนพนักงานมาสร้าง well-being ในมุมของสุขภาพกาย สุขภาพใจ และพัฒนาความรู้ ผ่านกิจกรรม Challenge 4 ด้าน ได้แก่ 1) Healthy challenge ที่ชวนทุกคนมีสุขภาพดีไปพร้อมกัน 2) Mental health challenge ที่ชวนทุกคนพักสมอง พักสายตา และจิตใจ 3) Physical challenge ที่จะท้ายทายความอึด เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย และ 4) Learning challenge ที่ชวนทุกคนมาสร้างพลังแห่งการเรียนรู้
  • จัดให้มีพื้นที่ฟิตเนสที่สำนักงานใหญ่ และมีสนามกีฬาสำหรับพนักงานตามโรงงาน เพื่อให้พนักงานออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน  และสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน
  • จัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกายโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้อง เช่น เรื่องโรค NDCs (Non-communicable diseases) โรคไม่ติดต่อที่คุณเลี่ยงได้…รู้เท่าทันป้องกันโรค เรื่องอาหารทานอย่างไร สุขภาพดีชะลอวัย เป็นต้น

 

  1. สวัสดิการสำหรับครอบครัวของพนักงาน
  • ให้สิทธิการลาคลอดบุตร สำหรับพนักงานหญิงเป็นระยะเวลา 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 45 วัน ในระหว่างลาคลอด
  • จัดให้มีห้องให้นมบุตร และตู้เย็นเก็บน้ำนม
  • สนับสนุนค่าเล่าเรียนสำหรับบุตรพนักงาน ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา และระดับปริญญาตรี
  • สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลให้ครอบครัวของพนักงาน
  • สนับสนุนรถรับส่งบุตรพนักงาน เพื่อรับ-ส่งระหว่างโรงเรียนและบ้านพักพนักงาน

 

  1. สวัสดิการสำหรับพนักงานเกษียณอายุ
  • จัดอบรมวางแผนการเงินก่อนการเกษียณอายุ เพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีสุข
  • มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องอีก 2 ปี นับจากวันที่เกษียณ
  • มีตัวเลือกให้ทำงานกับบริษัทแบบไม่เต็มเวลา สำหรับพนักงานเกษียณอายุที่ทำงานกับบริษัทในฐานะที่ปรึกษา

 

  1. กิจกรรม CEO Town Hall
  • บริษัทได้จัดกิจกรรม CEO Town Hall เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน รวมทั้งสื่อสารกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานของบริษัท สร้างความเข้าใจในเป้าหมายขององค์กรให้กับพนักงานอย่างชัดเจน สามารถนำไปเชื่อมโยงกับการทำงาน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับพนักงานเพื่อพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน

 

  1. การสำรวจความผูกพันของพนักงาน (Employee engagement survey)

บริษัทได้ดำเนินการสำรวจความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรเป็นประจำทุกปี เพื่อสำรวจความคิดเห็นของพนักงานจากการดำเนินโครงการต่างๆ ขององค์กรด้านการบริหารจัดการพนักงาน และเพื่อนำไปพัฒนาบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยแบบสำรวจแบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้

 
 

 

ผลการสำรวจความผูกพันของพนักงานในปี 2565 เป็นดังนี้

 

 

 

4. การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน

กลุ่มมิตรผลดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานทุกระดับโดยใช้ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน ที่จะประเมินประสิทธิภาพการทำงาน ความสามารถ และความก้าวหน้าทางอาชีพของพนักงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงความสำเร็จของพนักงานแต่ละคนให้เข้ากับเป้าหมายขององค์กรหรือหน่วยงาน บริษัทดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานด้วยแนวทางที่หลากหลาย ได้แก่

  1.  
  • การประเมินผลตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

การประเมินนี้จะจัดขึ้นปีละสองครั้งโดยเทียบกับตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพหลัก (Key Performance Indicators) ตามที่ได้ตกลงกันไว้กับหัวหน้าทีม ซึ่งจะวัดความสำเร็จของแต่ละบุคคลตามแผนกลยุทธ์ของทีม นอกจากนี้บริษัทยังประเมินความสามารถของพนักงานตามวัฒนธรรมของมิตรผล ที่เรียกว่า MITR Beyond ย่อมาจาก เชี่ยวชาญ (Mastery) นวัตกรรม (Innovation) จริงใจเชื่อถือได้ (Trustworthiness) และไม่ย่อท้อ ต่ออุปสรรค (Resilience) อันเป็นพฤติกรรมที่มิตรผลยึดถือและนำไปสู่การปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผลและบรรลุวัตถุประสงค์

 

  • การประเมินผลโดยใช้ผลการดำเนินงานของทีม

การประเมินนี้ช่วยให้พนักงานแต่ละคนได้รับการประเมินในฐานะส่วนหนึ่งของทีมมากกว่าการประเมินรายบุคคล โดยบริษัทจะทำการประเมินปีละสองครั้ง โดยเทียบกับ Key Performance Indicators (KPIs) ที่ระบุไว้เพื่อวัดความสำเร็จของทีม ซึ่งตัวชี้วัดนี้จะมีความสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของทีมและองค์กร ดังนั้น การประเมินผลรูปแบบนี้ จะช่วยให้สมาชิกในทีมแต่ละคนเข้าใจความคาดหวังและสามารถติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายระดับบุคคล ทีม และองค์กร

 

  • การประเมินผลแบบ 360 องศา

การประเมินแบบ 360 องศาจะดำเนินการเป็นประจำทุกปีเพื่อรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพและพื้นที่สำหรับการปรับปรุง แนวทางนี้ช่วยให้แต่ละบุคคลสามารถรับคำติชมจากสมาชิกในทีม เพื่อนร่วมงาน เจ้าหน้าที่รายงาน ตลอดจนหัวหน้างานและผู้จัดการ วิธีการนี้ช่วยให้พนักงานแต่ละคนเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองจากมุมมองที่หลากหลาย

 

  • การสนทนาระหว่างหัวหน้าทีมและผู้ใต้บังคับบัญชา

การประเมินนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การสนทนาแบบตัวต่อตัว การประชุมทีม ฯลฯ ส่งผลให้สมาชิกภายในทีมได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง