การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน 

 

 

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก : ผู้ถือหุ้น / ชาวไร่ / ชุมชน / คู่ค้า / ลูกค้าและผู้บริโภค   

 

ในปัจจุบันบริษัทต่างๆ ได้นำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน เข้ามาบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ  เพื่อให้บริษัทได้มีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาส  ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เช่น ความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของธุรกิจ ความเสี่ยงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจได้อีกด้วย  

 

กลุ่มมิตรผลจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการรวมถึงการบริหารความเสี่ยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีประธานกรรมการบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหาร ดูแลภาพรวมในการดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี (ESG) โดยเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การคัดเลือกคู่ค้า การประเมินและพัฒนาคู่ค้า การส่งมอบสินค้าและบริการไปยังลูกค้า รวมทั้งการตรวจสอบย้อนกลับ นอกจากนี้บริษัทได้มีการดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนตลอดทั้งกระบวนการของห่วงโซ่อุปทาน และยังคำนึงถึงผลกระทบทั้งทางบวกและผลกระทบทางลบ เพื่อเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานให้ยั่งยืนไปพร้อมกับกลุ่มมิตรผล  

 

 

 

แนวทางการบริหารจัดการ

 

กลุ่มมิตรผลมีนโยบายจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน และจรรยาบรรณคู่ค้ามิตรผล ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นด้านจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย พร้อมทั้งสื่อสาร และตรวจสอบให้คู่ค้าปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังได้นำมาตรฐานสากลมาเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน เช่น มาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400:2017 มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน (BONSUCRO) และมาตรฐานการจัดการสวนป่า (Forest Stewardship Council) ทั้ง มาตรฐานการจัดการป่าอย่างยั่งยืน (FSCFM: Forest Management Certification) และ มาตรฐานการจัดการห่วงโซผลิตภัณฑ์ (FSCCoC: Chain of Custody) สำหรับไม้ยางพารา รวมไปถึงได้มีโครงการต่างๆ ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดการใช้ทรัพยากร และมีแนวทางการทำงานที่ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นการส่งเสริมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการทบทวนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามจรรยาบรรณคู่ค้ามิตรผล และเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี (ESG)

 

คลิกเพื่อดู นโยบายจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน

 

คลิกเพื่อดู จรรยาบรรณคู่ค้ามิตรผล

 

 

ปัจจุบันเรามีการพัฒนาระบบ MPS (Mitr Phol Procurement System – on web) ซึ่งเป็นช่องทางการติดต่อทั้งผู้ขอซื้อ จัดซื้อและคู่ค้า รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ โดยเว็บไซต์นี้จะเริ่มตั้งแต่การสมัครเป็นคู่ค้ารายใหม่ การติดตามสถานะใบสั่งซื้อสินค้า ตลอดจนเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้กับคู่ค้าแบบทันที (Real Time) ตลอดจนการประเมินคู่ค้า เมื่อจัดส่งสินค้าหรือบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อมูลจะเชื่อมโยงกับระบบ SAP  และจะทำการบันทึกไว้ทั้งหมด เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการทำงานจากผู้ตรวจสอบเป็นประจำ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงกระบวนการจัดซื้อทั้งหมด   

 

ในส่วนของสินค้าที่เป็นปัจจัยเพื่อการผลิตที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาหาร (Food Contact) เช่น สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต และ บรรจุภัณฑ์ เมื่อทำการตรวจรับสินค้าที่คู่ค้าจัดส่งในระบบ MPS แล้ว ระบบดังกล่าวจะติดตาม คุณภาพสินค้า แหล่งผลิต รวมไปถึงการขนส่งที่มีความปลอดภัย  หากส่งสินค้าไม่ถูกต้องตามข้อมูลจำเพาะของสินค้า (specification) หรือสินค้าดังกล่าวมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้าน Food safety ทางคู่ค้าจะต้องแก้ไขความไม่สอดคล้องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด  

 

ทั้งนี้บริษัทยังมีการจำแนกคู่ค้าตามปริมาณยอดการสั่งซื้อ (Spending Analysis) และระดับความสำคัญของสินค้า เพื่อกำหนดแผนและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการคู่ค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยเกณฑ์การจำแนกคู่ค้าที่มีความสำคัญ (Significant Suppliers) ของบริษัท มีดังนี้ 

 

  • เป็นคู่ค้าที่ส่งมอบสินค้าพิเศษ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกลุ่มมิตรผลกำหนดเท่านั้น ได้แก่ สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ 
  • เป็นผู้ขายน้อยรายที่มีความเชี่ยวชาญ จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าตามที่กลุ่มมิตรผลต้องการ 
  • เป็นผู้ขายที่กลุ่มมิตรผลมียอดสั่งซื้อสูงตามเกณฑ์ที่กลุ่มมิตรผลกำหนด 
  • เป็นคู่ค้ากลุ่มผู้รับเหมาที่มีการขออนุมัติอัตรา เพื่อปฏิบัติงานในด้านต่างๆ 
  • เป็นคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจภายใต้การใส่ใจ สิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับกิจการที่ดี (ESG)

 

เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ กลุ่มมิตรผลมีระบบบริหารความเสี่ยงของคู่ค้าตามกลุ่มประเภทสินค้าและบริการ (Supplier Position Model) และมีขั้นตอนที่รัดกุมในการตรวจสอบคุณสมบัติคู่ค้าทุกรายที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้าใหม่ของบริษัท รวมถึงการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้งในระดับประเทศ ระดับรายสาขาอุตสาหกรรม และ ในระดับสินค้า มีการตรวจประเมินผลการดำเนินงานคู่ค้าประจำปี ทั้งในรูปแบบการประเมินผลด้วยตนเอง (self-assessment) ผ่านการใช้แบบสอบถาม โดยมีฝ่ายบริหารคุณภาพคู่ค้าเป็นผู้ตรวจแบบสอบถามอีกครั้งหนึ่ง หรือ การตรวจประเมินในสถานประกอบการคู่ค้า (on-site assessment) รวมถึง การตรวจประเมินจากบุคคลที่ 3 (3rd party on-site assessments) เช่น มาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน (BONSUCRO) เป็นต้น หรือ การประเมินตามมาตรฐานอื่นๆ เช่น SGP (Supplier Guiding Principles), SMETA (Sedex Members Ethical Trade Audit) เป็นต้น พร้อมทั้งแจ้งผลการประเมินให้กับคู่ค้า ผ่าน Email หรือ 2Way2Grow โดยคู่ค้าสามารถเข้าถึงกรณีศึกษาว่าคู่ค้ารายอื่น มีการปรับปรุงประสิทธิภาพด้าน ESG อย่างไร  เกณฑ์การประเมินมีความครอบคลุม และหลากหลาย เช่น การควบคุมการผลิต คุณภาพและมาตรฐานของสินค้า รวมทั้งยังมีประเด็นด้านความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเกณฑ์ประเมินคู่ค้าที่สำคัญอีกด้วย และเพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าของกลุ่มมิตรผลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กลุ่มมิตรผลจึงให้การสนับสนุนและตรวจติดตามการดำเนินงานของคู่ค้าที่อยู่ในโครงการพัฒนาคู่ค้าอยู่เป็นระยะ รวมถึงมีการพัฒนาคู่ค้าผ่านการอบรมเชิงเทคนิค ภายใต้การดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างกลุ่มมิตรผลและคู่ค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ

 

กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี หรือ ESG Program ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการให้ความรู้ และทำการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับกิจการที่ดี หรือ ESG กับคู่ค้าส่วนกลางและคู่ค้าวัตถุดิบ เพื่อจะมั่นใจได้ว่าได้มีการดำเนินงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยจะเป็นการประเมินอย่างรอบด้าน วางมาตรการการแก้ไขในกรณีที่พบว่ามีความเสี่ยง และหาแนวทางการพัฒนาคู่ค้าร่วมกัน

 

Mitr Phol Supplier ESG Program

 

เรายังได้จัดประชุมร่วมกับคู่ค้าเป็นประจำทุกปี เพื่อสื่อสารจรรยาบรรณคู่ค้ากลุ่มมิตรผลให้รับทราบ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการจัดหาสินค้าและบริการของบริษัท พัฒนาความรู้ด้าน ESG ในประเด็นใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น และความคาดหวังของคู่ค้าเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อคู่ค้า ช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพของคู่ค้าและบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน   

 

โดยปัจจุบันกลุ่มมิตรผลได้มีการจำแนกคู่ค้าออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ คู่ค้าส่วนกลาง และคู่ค้าวัตถุดิบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

 

1. คู่ค้าส่วนกลาง  

ได้แก่ คู่ค้าที่เป็นผู้สนับสนุนจัดหาสินค้าบริการ หรือ จ้างเหมาทั้งในและต่างประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม  

 

  1. คู่ค้าสินค้ากลุ่มที่ไม่เกิดผลกระทบมากนัก (Routine หรือ Non Critical Suppliers หรือ Low Value -  Low Risk)  คือ คู่ค้ากลุ่มสินค้าทั่วไปที่หาซื้อได้ง่าย มีผู้ขายหลากหลายราย ปริมาณยอดสั่งซื้อน้อย มีการจัดทำสัญญารายปี หรือบริหารจัดการโดยผู้ซื้อสั่งซื้อผ่านระบบ MPS (E-Catalog) เพื่อดำเนินการจัดซื้อแบบอัตโนมัติ เช่น อุปกรณ์ช่าง สินค้ากลุ่มสิ้นเปลือง อุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น  
  2. คู่ค้าสินค้ากลุ่มที่ควรสนใจและปรับปรุง (Leverage Suppliers หรือ High Value - Low Risk)  คือ คู่ค้ากลุ่มสินค้าทั่วไป มีผู้ขายหลายราย มีปริมาณยอดการสั่งซื้อสูง จึงมีการกระตุ้นการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพจากผู้ขาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่จัดซื้อจึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องของตลาดและเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงการมองหาโอกาสในการปรับเปลี่ยนแหล่งซื้อหรือผู้ขายรายอื่นๆ ที่ดีกว่าเดิม เพราะการลดต้นของผู้ซื้อจากสินค้ากลุ่มนี้จะช่วยสร้างผลกำไรที่สูงขึ้นได้ เช่น น้ำมันดีเซล สารหล่อลื่น งานบริการ งานซ่อม และงานล้างเครื่องจักร      
  3. คู่ค้าสินค้ากลุ่มที่จะเกิดปัญหาเมื่อขาด (Bottleneck Suppliers หรือ Low Value - High Risk) คือ คู่ค้ากลุ่มสินค้าที่มีผู้ขายน้อยราย หากขาดจะทำให้เกิดปัญหาในขั้นตอนการทำงานจนต้องรอ อาจเรียกว่าเป็น คอขวด (Bottleneck) สินค้ากลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในการทำให้เกิดผลกระทบมาก แม้ว่าปริมาณยอดการสั่งซื้อจะไม่สูงมาก เช่น อะไหล่ Spare Parts ของเครื่องจักรที่จำเป็น ต้องใช้กับเครื่องจักรรุ่นนี้เท่านั้น ไม่สามารถใช้รุ่นอื่นทดแทนกันได้  
  4. คู่ค้าสินค้ากลุ่มที่ต้องระวังและเฝ้าติดตาม (Critical Supplier หรือ High Value - High Risk)  คือ คู่ค้ากลุ่มสินค้าที่มีผู้ขายน้อยราย (1-3 ราย) เนื่องจากต้องผลิตสินค้าตามคุณสมบัติพิเศษที่กลุ่มมิตรผลกำหนดไว้เท่านั้น ดังนั้นผู้ขายจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าตามที่กลุ่มมิตรผลต้องการ ปริมาณยอดการสั่งซื้อสูงมากกว่า 5 ล้านบาทต่อปี ในที่นี้เน้นสินค้าที่เป็นปัจจัยเพื่อการผลิตที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของอาหาร (Food Contact) เช่น สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต และ บรรจุภัณฑ์

 

2. คู่ค้าวัตถุดิบ  

ได้แก่ เกษตรกร ซึ่งประกอบด้วย  

 

  • ชาวไร่อ้อย ที่ส่งอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักให้แก่โรงงานน้ำตาล   
  • ชาวสวนยางพารา ที่ส่งไม้ยางพาราที่หมดอายุแล้วให้กับโรงงาน 
  • ชาวไร่มันสำปะหลัง ที่ส่งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบให้แก่โรงงานเพื่อผลิตแป้งมันสำปะหลัง 

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดซื้อวัตถุดิบ เช่น ใบอ้อย ไม้สับ หรือแกลบ โดยตรงกับผู้ขายท้องถิ่น และผู้ค้า (Trader) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการจัดซื้อโมลาสจากโรงน้ำตาล และผู้ค้า (Trader) สำหรับใช้เป็นผลิตภัณฑ์โมลาส และใช้ในการผลิตเอทานอล

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 

 

1. โครงการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement)  

 

จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ การลดลงของทรัพยากรอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ และปัญหาการใช้ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการดำรงชีวิต ทางกลุ่มมิตรผลได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจให้มีความยั่งยืนบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้นำมาตรฐานสากลมาเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน เช่น มาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400:2017 กำหนดเป็นนโยบายจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากโครงการ การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือระบบจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่กฎหมายกำหนด มาใช้ร่วมกับการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ เพื่อให้มั่นใจถึงความสามารถในการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาเรามีการสั่งซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากถึง 3,190 ใบสั่งซื้อ จากคู่ค้า 130 ราย มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 2.3 พันล้านบาท  ประกอบได้ด้วยสินค้าและบริการประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้า การทำความสะอาด อุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องใช้ในสำนักงาน ผลิตภัณฑ์กระดาษ ยานพาหนะและอุปกรณ์เสริม สำหรับในปี 2566 มีเป้าหมายให้ครอบคลุมสินค้าและบริการในหมวดหมู่อื่นๆ มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มอย่างน้อย 2% จากจำนวนคู่ค้าเดิมที่มีการสั่งซื้อจากปีก่อนหน้า 

 

 

2. การประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้า 

 

บริษัทมีการประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกคู่ค้า ประเมินผลการดำเนินงานและการพัฒนาคู่ค้า เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการบริหารความเสี่ยงของคู่ค้า คู่ค้ารายใหม่ที่จะขึ้นทะเบียนกับทางกลุ่มมิตรผลจะต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) ครอบคลุมประเด็นด้านจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน บริษัทมีการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ของคู่ค้าสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ กลุ่มจ้างเหมาแรงงาน และคู่ค้าส่วนกลางรายใหม่ทุกราย และยังคงมีเป้าหมายที่จะประเมินความเสี่ยงของคู่ค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์และสารเคมีให้ครบทุกราย (ร้อยละ 100) ในปี 2565 

 

ในปี 2565 บริษัทมีคู่ค้าทั้งหมด 37,788 ราย เป็นคู่ค้าหลัก ร้อยละ 94.91 และเป็นคู่ค้าทางอ้อม ร้อยละ 5.09 ของคู่ค้าทั้งหมด โดยมีคู่ค้าหลักที่สำคัญ ร้อยละ 3.40 ของคู่ค้าหลักทั้งหมด และมีคู่ค้าทางอ้อมที่สำคัญ ร้อยละ 2.49 ของคู่ค้าทางอ้อมทั้งหมด ซึ่งบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจากคู่ค้าหลัก ร้อยละ  89.63 ของคู่ค้าทั้งหมด โดยค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจากคู่ค้าหลักที่มีความสำคัญ คิดเป็น ร้อยละ 41.49 ของคู่ค้าหลักทั้งหมด    

 

นอกจากนี้ยังมีการประเมินคู่ค้าประจำปี โดยได้ดำเนินการตรวจประเมินในสถานประกอบการคู่ค้า ทั้งนี้ไม่พบความเสี่ยงด้านแรงงานเด็ก  

 

 

3. การจัดงานประชุมสัมมนาและมอบรางวัลให้กับคู่ค้าประจำปี 

 

กลุ่มมิตรผลได้จัดการประชุมสัมมนา และมอบรางวัลให้กับคู่ค้าที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี เพื่อสื่อสารจรรยาบรรณคู่ค้ารวมถึงข้อมูลประชาสัมพันธ์ด้านต่างๆ ร่วมกันกับคู่ค้า ทั้งในด้านผลการดำเนินงาน แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนขององค์กร ระบบมาตรฐานคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะและความคาดหวังจากกลุ่มคู่ค้า เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานและเสริมสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีร่วมกันต่อไป โดยในปีที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมเป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 สำหรับคู่ค้าที่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลงาน มีผลงานระดับดีเยี่ยม ติดต่อกัน 2 ปี จะได้รับเกียรติบัตรและรางวัลพิเศษจากกลุ่มมิตรผล โดยมีจำนวน 31 ราย คิดเป็น 1.29% จากจำนวนคู่ค้าทั้งหมด โดยในปี 2565 ได้วางเป้าหมายในการพัฒนาการทำงานร่วมกันกับคู่ค้า โดยการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน นอกจากการแจ้งผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาแล้วนั้น ยังได้สื่อสารถึงแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันในการเตรียมความพร้อมต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจอีกด้วย  

 

 

4. การจัดซื้อจัดหาในท้องถิ่น 

 

กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญในการสนับสนุนคู่ค้าท้องถิ่น โดยมีการจัดซื้อวัตถุดิบ เช่น อ้อย และสินค้าและบริการอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ งานซ่อม เป็นต้น เพื่อใช้ในกลุ่มมิตรผล ทั้งนี้มีการจัดซื้อในท้องถิ่นปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 92.08 ของค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดหาทั้งหมด 

 

 

5. การยกระดับศักยภาพในการส่งมอบวัตถุดิบของคู่ค้า 

 

กลุ่มมิตรผลยังให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อย และคู่ค้าส่งมอบวัตถุดิบไม้  เพื่อให้คู่ค้าได้มีมาตรฐานตามแนวทางการบริหารจัดการวัตถุดิบที่ยั่งยืน สามารถส่งมอบวัตถุดิบได้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องให้กับบริษัท โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

 

โครงการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน

 

บริษัท พาเนล พลัส จำกัด ได้จัดทำโครงการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนตามหลักการของมาตรฐาน FSC ตั้งแต่ปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรชาวสวนยางสามารถดูแลและจัดการสวนยางพาราตามหลักความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ, ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะรับสมัครเกษตรกรรายย่อยที่สนใจและยินดีปฏิบัติตามข้อกำหนดมาเข้าร่วมโครงการฯ โดยพื้นที่สวนยางพาราที่เข้าร่วมต้องมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งออกให้โดยหน่วยงานราชการ เอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ได้แก่ โฉนดที่ดิน, นส.3 และ สปก. เป็นต้น และไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่ที่มีทรัพยากรคุณค่าสูง เมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการฯ สมาชิกต้องได้รับการอบรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในสวนยางพารา พร้อมทั้งมีการติดตามตรวจสอบสถานภาพและผลการดำเนินงานของสมาชิกอยู่เป็นระยะ หากพบถึงการกระทำต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการและเกณฑ์ของการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน จะมีคำร้องแก้ไขการดำเนินงาน หากไม่มีการแก้ไขเหตุดังกล่าวให้เรียบร้อยสถานะภาพการเป็นสมาชิกจะสิ้นสุดลง  

 

ปัจจุบันมีเกษตรกรสวนยางพาราที่สนใจและได้สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มแล้วสิ้นปี 2565 จำนวน 3,322 ราย เป็นพื้นที่ 65,692 ไร่ มีปริมาตรไม้รวมทุกชั้นอายุประมาณ 1,153,508.27 ลูกบาศก์เมตร และมีอัตราความเพิ่มพูนเฉลี่ยประมาณ 1.24 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ปี ซึ่งคาดการณ์ในปี 2566 จะมีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก 3,622 ราย โดยแบ่งพื้นที่สวนยางพาราที่เข้าร่วมโครงการตามอายุของยางพารา (ระยะของยาง) 3 ระยะ ดังนี้ 

 

  • ระยะที่ 1 ก่อนเปิดกรีด อายุตั้งแต่เริ่มปลูก - 6 ปี   

 

  • ระยะที่ 2 เปิดกรีด อายุ 7 ปี - 25 ปี  

 

  • ระยะที่ 3 ใกล้โค่นล้มเพื่อปลูกใหม่ อายุมากกว่า 25 ปี   

 

ในปี 2565 โครงการฯ สามารถซื้อวัตถุดิบไม้ยางคืนจากสมาชิก จำนวน 104,940 ตัน คิดเป็นมูลค่า 123.63 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้อบรมให้ความรู้ให้กับสมาชิกและผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น อบรมความปลอดภัยในการทำงาน อบรมด้านการใช้แรงงานและสวัสดิการสังคม อบรมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน อบรมความรู้การผลิตเชื้อราเขียว (ไตรโคเดอม่า) เพื่อใช้ควบคุมโรคและแมลง ช่วยลดการใช้สารเคมี เป็นต้น 

 

     

               การอบรมความรู้ให้กับชาวสวนยางพาราที่เข้าร่วมโครงการ